นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลา เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เครื่องมือโพงพาง โดยระบุเป็นการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 และยังฝ่าฝืนคำสั่งสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ที่ 16/2567 ที่แจ้งให้เจ้าของโพงพางรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ใช้จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนของเจ้าท่า เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน้ำไทยพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา ที่ 2/2567 เรื่อง แนวเขตร่องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคมนาคมทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตร่องน้ำสงขลา (ร่องใน) ตั้งแต่บริเวณหัวพญานาคจนถึงท่าเทียบเรือประมงใหม่ (ท่าสะอ้าน) ความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีระยะห่างจากฝั่งถึงหลักไฟขอบร่องน้ำประมาณ 300 เมตร จากฝั่งอำเภอเมืองสงขลา ให้เป็นเขตร่องน้ำปลอดภัยสำหรับการเดินเรือ คมนาคมขนส่งทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือประมง แต่ปัจจุบันในเขตร่องน้ำดังกล่าวมีเครื่องมือจับสัตว์น้ำโพงพาง ตั้งเรียงรายอยู่ในลักษณะกีดขวางร่องน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ รวม 13 แถว จำนวน 159 ช่อง ซึ่งการแจ้งความร้องทุกข์ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่เพียงแต่แจ้งความระบุพิกัดพื้นที่ ๆ บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ยังไม่ได้แจ้งความต่อบุคคลซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด ส่วนการดำเนินการคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ได้นำส่งหลักฐานเพื่อประกอบการสอบสวนผู้ใช้เครื่องมือโพงพาง (เพิ่มเติม) ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา เป็นรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิด กว่า 30 ราย เพื่อประกอบการขอรื้อถอนโพงพางและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อพนักงานอัยการต่อไป