นักศึกษาภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประกอบด้วย นายจาตุรงค์ โชคพิพัฒน์พร และนางสาวสลิลลา น้อยสนอง ได้รับรางวัล“เหรียญทอง และรางวัล WIIPA Special Award” จากงานประกวดนวัตกรรม The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition (ITEX 2024) จากผลงาน เรื่อง “Ayuvy Red Power-Bioactive Colorant” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมี ผศ.ดร. ชนิกานต์ ซ่อนกลิ่น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี รศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาร่วมและผู้นำทีมเข้าแข่งขัน ซึ่งเป็นงานการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ โดยจัดขึ้นมากกว่า 30 ครั้ง มีนักประดิษฐ์และนักวิจัยเข้าร่วมประกวดจากทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในนิทรรศการการประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2567

นายจาตุรงค์ โชคพิพัฒน์พร เปิดเผยว่า “ผลงาน Ayuvy Red Power – Bioactive colorant เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์งานวิจัยของการทำโครงงานพิเศษระดับปริญญาตรี ภายใต้แนวคิดที่อยากจะพัฒนาเป็นผงชงดื่มที่สามารถดื่มได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่รู้สึกถึงกลิ่นและรสชาติของฝาง และยังมีสีของผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์นี้เริ่มจากการศึกษาวิธีการสกัดสีที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากแก่นฝางซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นของไทย โดยใช้เทคโนโลยีการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonic assisted extraction) ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ใช้ตัวทำละลายหรือสารเคมี ไม่ก่อให้เกิดผลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม จนได้สารสกัดให้สีที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูง และมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ a-amylase ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยับยั้งการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล จึงสนใจนำมาต่อยอดเป็นสินค้าสุขภาพ เพื่อยกระดับสินค้าทางการเกษตรของไทยสู่ระดับสากล จากงาน The 35th International Invention, Innovation & Technology Exhibition (ITEX 2-24) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ถือเป็นงานประกวดนวัตกรรมครั้งแรกที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยภายในงานได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีความสนใจในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่ทำมาจากไม้ของไทย ให้สีสันที่สวยงาม สามารถเปลี่ยนสีได้ตามค่า pH ที่เปลี่ยนแปลงไป และยังให้คุณประโยชน์แก่ร่างกาย ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการจุดประการและเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและสูงขึ้นไป เพื่อศึกษาค้นคว้าและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยสู่สากล ทั้งนี้ขอขอบคุณ ผศ. ดร.ชนิกานต์ ซ่อนกลิ่น ที่เป็นที่ปรึกษางานวิจัยนี้ ตั้งแต่เริ่มการคิดค้นกระบวนการสกัดที่เป็นเทคโนโลยีสีเขียว (Green-technology) จนกระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ Ayuvy ขอขอบคุณ รศ. ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมที่คอยให้คำปรึกษา ให้โอกาสในการร่วมงานแข่งขัน และเป็นผู้นำทีมเข้าแข่งครั้งนี้ ขอบคุณทุกการสนับสนุนจากภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสาขาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท้ายที่สุดขอบคุณเพื่อน ๆ และครอบครัวที่คอยให้กำลังใจเป็นอย่างดี ทำให้สามารถนำชัยชนะจากการแข่งขันครั้งนี้กลับมาได้” นายจาตุรงค์ โชคพิพัฒน์พร กล่าว.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตที่คิดเป็นทำเป็นและตอบโจทย์ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล