เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดใหญ่เวทีการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ชิงชนะเลิศ ระดับชาติ ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีครูและนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในระดับเครือข่าย ของโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ จำนวน 350 คน จากโรงเรียนมัธยมศึกษากว่า 240 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมจนมาถึงรอบชิงชนะเลิศ มีครูและนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบคัดเลือกระดับเครือข่ายจากทั่วประเทศ จำนวน 33 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันอย่างคึกคัก และได้ผู้ชนะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2556 และจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากลให้แก่นักเรียน โดยต้องการให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา และส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้าโดยการทำโครงงานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นการจัดเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยในปัจจุบันการแข่งขันการทำโครงงานในระดับนานาชาติมีมากมายหลายรายการที่สำคัญ เช่น International Young Physicists’ Tournament (IYPT) หรือการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันทางวิชาการของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากทั่วโลก ในการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นำเสนอคำตอบสำหรับปัญหาเหล่านั้นด้วยข้อมูล ทฤษฎีและผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ พร้อมตอบคำถามเพื่อแก้ข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้ามในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ และนับเป็นเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติทางฟิสิกส์เวทีเดียวของโลก ที่มีการประลองทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีความสามารถยอดเยี่ยมจากทั่วโลก

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ชิงชนะเลิศ ระดับชาติ ในปีนี้ มีผลการแข่งขันเป็นที่น่าประทับใจ จึงขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีมจากโรงเรียนมุกดาหาร ตลอดจนนักเรียนทุกคนที่มีโอกาสและมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกฝน ค้นหาความรู้ ความชำนาญในสิ่งที่ตนเองรักและสนใจทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดียิ่ง และขอชื่นชมครูทุกคนที่มีความมานะอดทนในการฝึกฝนนักเรียนจนทำให้นักเรียนสามารถมีความรู้ เก่ง และใช้ความรู้ในการอธิบายอย่างมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างคล่องแคล่ว เชื่อมั่นว่าเราจะได้ผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งอย่างรอบด้านในอนาคต

“สพฐ. ขอชื่นชมและขอบคุณทีมเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดงานได้อย่างดียิ่ง รวมถึงทีมวิทยากรและคณะกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทุ่มเทเสียสละ ร่วมกับ สพฐ. พัฒนาโครงการการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ชิงชนะเลิศ ระดับชาติ มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอชื่นชมและขอบคุณเครือข่ายของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ ที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างเข้มแข็ง ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ที่มองเห็นศักยภาพของเด็กไทยด้านวิทยาศาสตร์ และต้องการผลักดันให้พวกเขามีทักษะความสามารถในระดับสูงทัดเทียมกับนานาชาติได้ ซึ่ง สพฐ. ก็จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับความสามารถของเด็กไทยอย่างรอบด้านต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว