นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า แนวคิดและความรุดหน้าด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลว่า “Huawei ASEAN Academy (ประเทศไทย) มุ่งพัฒนากลยุทธ์ 4 ประการสำคัญ ได้แก่สถาบันธุรกิจ (สำหรับระดับผู้บริหาร) เพื่อบ่มเพาะภาวะผู้นำด้านดิจิทัลสำหรับผู้บริหารองค์กร, สถาบันเทคนิค (สำหรับระดับนักพัฒนา) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เอสเอ็มอี และนักพัฒนาซอฟต์แวร์, สถาบันวิศวกรรม (สำหรับระดับผู้ประกอบวิชาชีพ) ที่มุ่งเน้นทักษะการปฏิบัติจริงสำหรับกลุ่มคนทำงาน และประการสุดท้ายคือการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล (สำหรับระดับผู้ใช้งาน) เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสเข้าถึงความรู้ด้านดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม”

“ในปัจจุบัน หัวเว่ยและพาร์ทเนอร์ผนึกกำลังพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 96,000 คน ซึ่งรวมถึงบุคลากรผู้มีทักษะด้านดิจิทัล 72,000 คน, ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ 8,000 คน, วิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green engineer) 2,000 คน, บุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน, เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ 3,500 ราย ทั้งยังจัดการฝึกอบรมให้กับนักเรียนและชุมชนในชนบท 6,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ หัวเว่ยได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งสถาบัน ICT Academy ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยกว่า 42 แห่งทั่วประเทศ”

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงความร่วมมือในมหกรรม Thailand Digital Talent Summit ว่า  ในนามกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องขอขอบคุณหัวเว่ยสำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญ ในการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อบ่มเพาะศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น กระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญคือการสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่กลายเป็นหัวใจสำคัญและเป็นพื้นฐานการพัฒนาของโลกยุคนี้ในทุกๆ มิติ เราพร้อมผนึกกำลังกับหัวเว่ยเพื่อผลักดันนวัตกรรมดิจิทัลและนโยบายการวิจัยที่ออกแบบโดยเฉพาะ ในการจัดหาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ พร้อมทั้งผลักดันนโยบายส่งเสริมการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21

ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หัวเว่ยได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่กับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

1. สร้างผลกระทบเชิงบวกกับภาครัฐบาลและนโยบาย: ในการผนึกกำลังกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงแรงงาน ทั้ง 3 หน่วยงานตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีให้ได้รวม 10,000 คน, นักพัฒนาด้านคลาวด์และ AI จำนวน 5,000 คน และวิศวกรด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมอีก 2,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 20 แห่ง เพื่อสร้างองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรนักพัฒนาด้านคลาวด์และด้านดิจิทัลของหัวเว่ย

2. แบ่งปันองค์ความรู้ด้านวิชาการ: มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยไปรษณีย์และโทรคมนาคมปักกิ่ง (Beijing University of Post and Telecommunications), มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเปิดตัวโครงการใหม่กับหัวเว่ย ซึ่งเป็นความร่วมมือเพื่อผลักดันการถ่ายทอดประสบการณ์ ส่งต่อองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรเพื่อโลกการทำงานในอนาคต

3. มอบทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน: เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมไอซีที หัวเว่ยจัดโครงการแข่งขันด้านไอซีทีเพื่อชิงทุนการศึกษาในปี พ.ศ. 2566-2567 โดยได้มอบ 9 รางวัล ให้กับทีมผู้ชนะรางวัลใน 3 สาขา ได้แก่ ด้านเครือข่าย (Network) ด้านคลาวด์ (Cloud) และด้านการประมวลผล (Computing) โดยมีมูลค่ารางวัลรวมกว่า 1.4 ล้านบาท

4. การมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมและการสร้างอาชีพ: หัวเว่ยร่วมกับพันธมิตร 15 รายในธุรกิจองค์กร, คลาวด์, พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ จัดมหกรรมจัดหางานเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับการฝึกอบรมและประกาศนียบัตรรับรองจากหัวเว่ยได้เข้าถึงงานในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบ, ธุรกิจองค์กร, และการพัฒนาซอฟต์แวร์