นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานที่ปรึกษาฝ่ายสิทธิประโยชน์และหารายได้ ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2024 ของสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) หรือ “ACF Congress 2024” พร้อมด้วย “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดาโต๊ะ อมาจิต ซิงห์ กิล คณะกรรมการบริหารของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ), รองประธานสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี), เลขาธิการสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน ชาวมาเลเซีย และสมาชิกอาเซียนทั้ง 11 ชาติร่วมประชุม เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรม เดอะ แกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ได้มีการมอบรางวัล “อาเซียน เมอร์ริต อวอร์ด” โดยสมาชิกทุกชาติในอาเซียนมีมติมอบรางวัลดังกล่าวให้แก่ นายเอกชัย เศวตสมภพ รองประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน และอุปนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการกีฬาจักรยานไทยมายาวนานถึง 12 ปี ให้การดูแลนักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยด้วยดีมาตลอดทั้งการส่งไปแข่งขันต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนกีฬาจักรยานในอาเซียนจนได้รับการยอมรับจากทุกชาติ ส่วนอีกหนึ่งรางวัลคือ ดาโต๊ะ อมาจิต ซิงห์ กิล เลขาธิการเอซีเอฟ ที่ได้ทำผลงานให้ยูซีไอให้การรับรองสถานภาพของสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน

ที่ประชุมได้หารือแนวทางผลักดันให้การแข่งขันจักรยานอาเซียน ซีรีส์ให้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติของแต่ละชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานกีฬาจักรยานในภูมิภาค ในรอบปี 2567 โดยสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะบรรจุการชิงชัยอาเซียน ซีรีส์ ในการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ “แทร็ค เอเชีย คัพ 2024” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปลายเดือนสิงหาคม ส่วนประเทศอินโดนีเซีย จะจัดจักรยานเสือภูเขาอีลิมิเนเตอร์ อาเซียน ซีรีส์ ประมาณเดือนกันยายน ในขณะที่เวียดนามจะจัดการแข่งขันจักรยานถนน ไครทีเรียม อาเซียน ซีรีส์ ในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม 2567 ส่วนในปีต่อๆ ไป ชาติสมาชิกก็จะบรรจุศึกอาเซียน ซีรีส์ร่วมไปกับปฏิทินทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติแต่ละรายการ

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบในแนวทางการร่างกฎระเบียบ Balance bike หรือจักรยานหนูน้อยขาไถ ในส่วนของชาติอาเซียนร่วมกัน โดยอาศัยแนวทางร่วมกันของแต่ละชาติ เมื่อได้ร่างระเบียบกลางที่จะใช้ร่วมกันแล้ว ก็จะรายงานต่อไปยังสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ ให้รับทราบต่อไป เพื่อผลักดันให้ยูซีไอพิจารณาบรรจุจักรยานขาไถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ยูซีไอจะพิจารณาบรรจุจักรยานขาไถเข้าไปอยู่ในหมวดจักรยานเพื่อมวลชน หรือ Cycling For All ในอนาคต

หลังการประชุม พลเอกเดชา กล่าวว่า การประชุมสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียนในครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจ สมาชิกในอาเซียนเดินทางมาร่วมประชุมครบทั้ง 11 ประเทศ วาระสำคัญในการประชุมอีกอย่างหนึ่งคือการวางแผนพัฒนากีฬาจักรยานในภูมิภาคอาเซียน มีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์อาเซียนประเภทต่างๆ ทั้งการแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขา, ประเภทถนน, ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ อีกรายการที่สมาชิกร่วมกันพิจารณาคือการแข่งขันจักรยานทางไกล “ทัวร์ ออฟ อาเซียน” ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากประเทศสิงคโปร์ต่อมายังประเทศมาเลเซีย แล้วเข้ามาประเทศไทยทางจังหวัดสงขลา นักกีฬาก็ปั่นต่อไปถึงจังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามฝั่งโขงไปยัง สปป.ลาว และเวียดนาม