วันนี้ (6 ต.ค.) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ร่วมกับ พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) และ พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผู้บังคับการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี5 (ผบก.สอท.5) แถลงข่าวการหารือแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ โดยมีนายณภัทร ชุ่มจิตตรี หรือ คิง ก่อนบ่าย นำนางสายลม ชื่นดอนกอย ซึ่งเป็นแม่เลี้ยง และ นางสุธิดา ตั้งบูรพาจิตร์ เพื่อนแม่เลี้ยง เข้ายื่นหลักฐานถูกหลอกกู้เงินจากเอสเอ็มเอสหลอกลวงด้วย

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อกลโกงออนไลน์รูปแบบต่างๆ ทั้งหลอกซื้อของออนไลน์ แอพเงินกู้ผิดกฎหมาย เอสเอ็มเอสหลอกลวง และเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ฯลฯ จึงสั่งการให้กระทรวงฯ ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งดำเนินการปราบปราม ตามกฎหมายหากพบหลักฐานกระทำความผิด เพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเป็นการคุ้มครองประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก บางเคสมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายพันราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท

“วันนี้ก็มีนักแสดงและตลกชื่อดัง คือ คิง ก่อนบ่าย ได้พาญาติที่เป็นผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์และมอบหลักฐานต่างๆ หลังตกเป็นเหยื่อและต้องการเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังตนเองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้ ซึ่งทางกระทรวงฯ จะนำหลักฐานต่างๆ ประสานกับทางตำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือและติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป”

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในเชิงรุก จึงได้ยกระดับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์ OCC 1212 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานหน่วยงานต่างๆพร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมามีทั้งคนจากกระทรวงดีอีเอส ตำรวจ และเอกชน ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาหลอกหลวงทางออนไลน์ เมื่อพบจะรีบปิดกั้นและแจ้งเตือนประชาชนให้เร็วที่สุด

“วันนี้ได้มีการประชุมหารือกับแพลต์ฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ช้อปปี้ ติ๊กต๊อก เจดีเซ็นทรัล และลาซาด้า เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น ในการวางแนวทางการการป้องกัน ปราบปราม และให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย ซึ่งจากสถิติมีการถูกหลอกหลวงซื้อออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กคิดเป็นสัดส่วนถึง 82.4% ซึ่งเอกชนยืนยันจะคัดกรองคนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มในการซื้อขายให้เข็มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตามขอเตือนมิจฉาชีพ ให้หยุดดำเนินการเพราะเจ้าหน้าที่สามารถติดตามหลักฐานทางคอมพิวเตอร์และการโอนเงินมาดำเนินคดีได้”

ด้าน คิง ก่อนบ่าย กล่าวว่า พาแม่เลี้ยงมาจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นหลักฐานกับทางดีอีเอสและตำรวจ โดยถูกหลวงให้กู้เงินผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งหลังจากตนแชร์เรื่องนี้ในเพจ ก็มีคนที่โดนลักษณะเดียวกันส่งข้อมูลมาให้นอกจากจะมาร้องเรียนแล้วอยากจะออกมาเตือนประชาชนไม่ให้หลงตกเป็นเหยื่อ

ด้านนางสายลม  กล่าวว่า ตนได้รับเอสเอ็มเอสเชิญชวนให้กู้เงินดอกเบี้ยถูก เมื่อคลิกลิงก์เข้าไปก็ถูกให้กรอกข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็อ้างว่าต้องโอนเงินมาเป็นค่าดำเนินการต่างๆ แล้วจะโอนคืนมาให้พร้อมเงินกู้ ซึ่งตนโดนหลอกโอนไป 13,900  บาท จากยอดกู้ 30,000 บาท ส่วนนางสุธิดา ที่เป็นเพื่อนถูกหลอกให้โอนไป 60,000 บาท แต่ก็ไม่ได้รับการโอนเงินกลับมาแต่อย่างใด จึงอยากจะขอเตือนประชาชนและให้ภาครัฐแก้ปัญหาเรื่องเอสเอ็มเอส เหล่านี้ที่ส่งมายังประชาชนเพื่อไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่ออีก