เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กองทัพภาค ที่ 4 ว่า ตนได้เห็นชอบในหลักการที่ชุดตรวจสอบการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในพื้นที่ อ.เกาะสมุย ที่ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูล จนนำไปสู่การทดสอบการใช้มาตรการตรวจสอบด้วยการบูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง,ที่ดิน,ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,เทศบาล,โยธาธิการ,พัฒนาธุรกิจการค้า,ตำรวจภูธร, ภายใต้ชื่อ ปฎิบัติการสมุยโมเดล และได้เข้าตรวจสอบวิลล่าของนิติบุคคล ที่มีชาวต่างชาติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่เขาหมาแหงน หรือ เขาเฉวงน้อย พบว่าทั้ง 2 แห่ง มีความผิด ตาม พรบ.โรงแรม พรบ.ควบคุมอาคาร , พรบ.สิ่งแวดล้อม และ พรบ.การประกอบธุรกิจของชาวต่างด้าว ซึ่งรูปแบบการทำงานภายใต้ สมุยโมเดล ทำให้สามารถตรวจสอบความผิดได้ทันที เนื่องจากคณะทำงานประกอบไปด้วยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายโดยตรง เมื่อพบความผิด พนักงานสอบสวน ก็สามารถสอบสวนปากคำผู้เสียหาย และสรุปสำนวน กล่าวโทษได้ทันที

“การทำงานบูรณาการในลักษณะนี้ จะทำให้การทำงานตรวจสอบฯจับกุม เป็นไปอย่างรวดเร็วและลดขั้นตอนความยุ่งยาก โดยหลังจากนี้ คณะทำงานฯ ภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 จะดีเดย์เข้าทำงานพร้อมในกัน 6 จุดเป้าหมายของพื้นที่เกาะสมุยที่ได้มีการทำงานรวบรวมข้อมูลไว้แล้ว โดยมี พล.ต.อนุสรณ์ โออุไร รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะรอง ผอ.รมน ภาค 4 ร่วมกับนายเจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.สุราฎร์ธานี ในฐานะ ผอ.รมน.จ. สุราษฎร์ธานีเป็นผู้กำชับการปฎิบัติงานของคณะทำงานฯ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถเข้าตรวจสอบและเก็บข้อมูลหลักฐานได้อย่างน้อยวันละ 10 แห่ง หลังจากนั้นก็จะส่งหลักฐานต่างๆที่ คณะคณะทำงานได้ลงพื้นที่ส่งมอบให้กับคณะพนักงานสอบสวนของ กอ.รมน. ซึ่งจะประกอบไปด้วยพนักงานสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 8 และคณะคณะพนักงานสอบสวน ตำรวจปราบปรามและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ (ปทส) ภาค 8 ที่ขณะนี้ขณะนี้ตนได้ลงนามแต่งตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวน กอ.รมน.เรียบร้อยแล้ว จะเข้าสอบปากคำและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เราจะใช้แผนการทำงานในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้ง 6 จุด และดำเนินการในขั้นต้นกับผู้กระทำผิดได้ระดับหนึ่ง แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว

พล.ท.ศานติ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อพบความผิดคณะพนักงานสอบสวน จะกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายทันที โดยเฉพาะ ความผิดเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดิน โดยขณะนี้การแปลภาพถ่ายในอดีต กับการตรวจสอบแปลงที่ดิน ระบุชัดเจนว่าในหลายพื้นที่มีการได้มาซึ่ง เอกสารการครอบครองที่ดินที่ไม่ถูกต้อง พื้นที่เหล่านี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายและยึดคืนเพื่อให้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติของประเทศได้กลับคืนมาเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นเดิม ในกระบวนการยึดคืนอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง บางคดีอาจต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี คดีจึงแล้วเสร็จ เนื่องจากต้องมีการต่อสู้กันทางศาล ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพราะผู้ครอบครองที่ดินในปัจจุบันบางรายอาจจะได้มาจากความไม่รู้ ได้มาจากการถูกหลอก ยืนยันว่าเราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายใครทำผิดก็จะต้องได้รับโทษ พื้นที่กองทัพภาคที่4 เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ การที่จะให้กลุ่มนายทุนหรือกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์โดยที่ประเทศเราขาดรายได้ ที่สำคัญมีคนไทยที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่มเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้กระทำผิดและทำธุรกิจอย่างเห็นแก่ตัว ซึ่งถือว่าเป็นภัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เราในฐานะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนให้การแก้ปัญหาลุล่วงให้ได้และเอากลับคืนมาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสมบัติและผลของชาติ กลับมาให้ลูกหลานของเราได้ภูมิใจต่อไปในอนาคต และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ได้รับความร่วมมือในการบูรณาการเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นอย่างดี ทั้งจาก กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง, รวมถึงหน่วยงานองค์กรพิเศษทั้ง ดีเอสไอ ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ปปช. และ ปปง. เราเชื่อว่าการบูรณาการ ภายใต้ปฏิบัติการสมุยโมเดล เป็นแนวทางในแก้ไขปัญหาการบุกรุกถือครองที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะขยายผลไปในทุกพื้นที่ ที่ทรัพยากรทางธรรมชาติ ถูกบุกรุกทำลายและยึดครองในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4