เผลอนิดเดียว! ครบรอบ 10 ปี พร้อมก้าวขึ้นสู่ปีที่ 11 แล้ว สำหรับ YouTube ประเทศไทย แพลตฟอร์มวิดีโอที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย สนับสนุนชุมชนครีเอเตอร์ และเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก!!

วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” มีความเคลื่นไหวล่าสุดมาเล่าสู่กันฟัง กับ แพลตฟอร์มที่เรียกได้ว่าครองใจอันดับ 1 ของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง!!

ต้องยอมรับกันว่า YouTube ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม (YouTube.co.th) เป็นครั้งแรกในไทยเมื่อปี 57 มาถึงปี 67 นี้ ผลสำรวจจาก Kantar พบว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ที่คนไทยนิยมใช้เพื่อเจาะลึกในสิ่งที่พวกเขาหลงใหล และ 89% ของผู้ชมกลุ่ม GEN Z หรือผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี ได้ยกให้ YouTube เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ชื่นชอบที่สุด และ 88% ของผู้ชมกลุ่ม GEN Z เห็นว่า YouTube มีคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ในการเจาะลึกสิ่งที่พวกเขาสนใจ

ขณะที่ผลสำรวจของ นีลเส็น พบว่า Gen Z นิยมดู YouTube ในช่วงหลังเลิกเรียนหรือหลังเลิกงาน เป็นเวลาต่อเนื่อง นานหลายชั่วโมง Gen Z ในประเทศไทย นิยมฟังเพลงและดูคอนเทนต์บน youtube และ Gen Y ใช้เวลากับ YouTube มากที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ

และอินฟลูเอนเซอร์ ที่กลุ่ม Gen Z ในประเทศไทย ชื่นชอบ 5 อันดับแรก ล้วนเป็นครีเอเตอร์ใน YouTube และ Gen Y ชอบชมวิดีโอแบบยาวบน YouTube สำหรับคอนเทนต์ส่วนมาก และ YouTube ครองใจผู้ชม Gen Z ในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในแง่ของการใช้งานและการรับรู้

อย่างไรก็ตามในส่วนของการเติบโตของ YouTube Shorts ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้น ยอดดู YouTube Shorts โดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 130% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ชมที่ login เพื่อดู YouTube Shorts โดยเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 35% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่พฤติกรรมการชม YouTube Shorts ของคนไทยจากผลสำรวจของ Material  พบว่า 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทย ระบุว่า พวกเขารับชมทั้งวิดีโอแบบสั้นและวีดีโอแบบยาว บน youtube และ 80% ระบุว่า YouTube Shorts ช่วยให้พวกเขาเจาะลึกลงไป ในเนื้อหาของคอนเทนต์และหัวข้อเฉพาะที่สนใจ

ปัจจุบัน YouTube คือชุมชนที่แข็งแกร่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ ผ่านความสนใจที่หลากหลาย จากผลสำรวจผู้ชมในประเทศไทยระบุว่า เวลาในการรับชมวิดีโอประเภทหนังสือเสียงบน YouTube ในไตรมาสที่ 2 ของปี 66 เพิ่มขึ้นกว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 65

และเวลาในการรับชมวิดีโอประเภทศิลปะการต่อสู้แบบแบบผสม (Mixed Martial Arts) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 66 เพิ่มขึ้นกว่า 140% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 65

ที่สำคัญ คือ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ออกสู่สายตาชาวโลกเวลาในการรับชมคอนเทนต์ของช่อง YouTube ในไทยกว่า 25% มาจากผู้ชมในต่างประเทศ!!

“มุกพิม อนันตชัย” หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย และเวียดนาม บอกว่า ชุมชน YouTube เติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ศิลปินหน้าใหม่ ไปจนถึงผู้ที่มีชื่อเสียง พวกเขาต่างใช้ YouTube ในการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลก

ชุมชน YouTube ของไทย มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันมีช่องที่มีจำนวนผู้ติดตามทะลุ 1 ล้านคนมากกว่า 1,000 ช่อง ซึ่งเมื่อย้อนไปในปี 57 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน มีเพียงแค่ 4 ช่องเท่านั้น และ YouTube ก็ได้ส่งเสริมการเติบโตนี้ ด้วยการมอบช่องทางในการสร้างรายได้ที่หลากหลายแก่ครีเอเตอร์ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ YouTube (YouTube Partner Program หรือ YPP)

นอกจากนี้ในปี 66 ที่ผ่านมา ทาง YouTube ยังได้ประกาศเพิ่มการสร้างรายได้ใน YouTube Shorts และขยายโปรแกรม พาร์ทเนอร์ YouTube ในไทยให้ครีเอเตอร์มีสิทธิเข้าร่วมโปรแกรมนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อเปิดโอกาส ให้ครีเอเตอร์ไทย จำนวนมากขึ้นสามารถเปลี่ยนความหลงใหลของตนให้กลายเป็นรายได้เพื่อเลี้ยงชีพด้วย

ส่วนเทรนด์ของคอนเทนต์ต่อจากนี้ จะเกิด category ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่หลายๆคนไม่เคยดูมากก่อน เช่น วิดีโอประเภทเกมที่สวมบทบาทสไตล์ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นกว่า 600% ในปี 66 นอกจากนี้ ไลฟ์ วิดีโอ ก็จะเป็นแนวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ทาง “ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย” Group Marketing Manager – YouTube, South East Asia บอกว่า YouTube จะยังคงเดินหน้ามอบช่องทางใหม่ๆ สำหรับครีเอเตอร์ในการสร้างรายได้และเข้าถึงกลุ่มผู้ชมทั่วโลก โดยมีการนำศักยภาพของ AI ที่เป็นประโยชน์ต่อครีเอเตอร์ ศิลปิน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเมื่อไม่นานนี้ YouTube ได้ประกาศเปิดให้บริการฟีเจอร์ AI ในเวอร์ชั่นทดลองแก่ครีเอเตอร์บางรายก่อน ที่จะเปิดให้บริการในวงกว้าง ภายในปีนี้

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย (ซ้าย) และ มุกพิม อนันตชัย (ขวา)

ซึ่งรวมถึงฟีเจอร์ “Dream Screen” ที่ให้ผู้ใช้เพิ่มวิดีโอหรือภาพพื้นหลังลงใน Shorts ได้ง่ายๆ ด้วยการพิมพ์ไอเดียลงในพรอมต์ โดยทาง YouTube จะเดินหน้านำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และช่วยปกป้องชุมชน YouTube เช่น ข้อกำหนดล่าสุดที่ระบุให้ครีเอเตอร์ต้องเปิดเผยต่อผู้ชม เมื่อเนื้อหาที่ดูสมจริงถูกสร้างขึ้นโดย Generative AI เป็นต้น

“เอไอ จะช่วยให้ครีเอเตอร์สร้างคอนเทนต์วิดีโอที่มีคุณภาพมากขึ้น หากถ่ายภาพออกมามัว หรือเสียงไม่ชัด จะมีระบบเอไอหลังบ้านที่ช่วย โดยที่ไม่ต้องมีเครื่องมือราคาแพง หรือใช้เวลาในการทำนาน ที่ช่วยให้วิดีโอมีคุณภาพมากขึ้น และเอไอจะช่วยปลดล็อกในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ด้วยฟีเจอร์ Dream Screen ช่วยเพิ่มภาพพื้นหลัง หรือจะเป็น Dream Track ที่อยากได้เพลงแบบไหน หรือเสียงเหมือนใคร ก็จะสร้างเพลงใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็น Soundtrack ให้กับวิดีโอได้ สิ่งเหล่านี้หวังว่าจะช่วยครีเอเตอร์ในการปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น”

สุดท้ายแล้ว ผู้บริหารของ YouTube ยืนยันว่า การก้าวขึ้นสู่ปี 11 จะเดินหน้าลงทุนในการพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนครีเอเตอร์ การส่งเสริมการสร้างสรรค์คอนเทนต์ อย่างมีความรับผิดชอบ และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปลอดภัยและตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน!?!

Cyber Daily