สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2521 นับแต่ห้วงเวลามหาปีติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ปวงชนต่างชื่นชมยินดีพระบารมี ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

การนี้ ทรงน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” แนวพระราชดำริเพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยและทรงปฏิบัติบำเพ็ญมาด้วยดีโดยตลอด ในด้านการส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชน สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเยาวชนในฐานะอนาคตของชาติ ครั้งแรกกับบทบาทบนเวทีระดับนานาชาติ ทรงตอบรับเข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก” ร่วมกับ สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ มุ่งเดินหน้าพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทยทุกช่องทาง รวมถึงช่องทาง “ออนไลน์” ที่ปัญหากำลังลุกลามแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสว่า “ปัญหาเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ยังคงมีความซับซ้อน และต้องการแนวทางการจัดการในหลายมิติ กลยุทธ์เชิงป้องกันและองค์รวม เช่น การสนับสนุนทางการเงิน และการดำรงชีวิตให้แก่ครอบครัวที่เปราะบาง การเข้าถึงชุมชน หรือการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน สามารถเป็นมาตรการสำคัญ ในการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และการกำหนดความผิดทางอาญาได้”

“ความสำเร็จของความพยายามเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ การดูแลให้เด็กมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง เป็นความรับผิดชอบพื้นฐานที่เราต้องตระหนักและร่วมกันรับผิดชอบ เพราะเด็กคือทรัพยากรอันมีค่าที่สุด เด็ก ๆ ควรจะได้เติบโตงอกงาม ด้วยการเลี้ยงดูที่ดีในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า และสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต” พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ด้วยพระราชหฤทัยอันตั้งมั่นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน ทรงยกย่องชื่นชม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ระหว่างปิดการประชุมว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ใจความตอนหนึ่งว่า “สำหรับเด็กไทยและอนาคตของพวกเขานั้น จะได้รับการดูแลอย่างดี เนื่องจากอยู่ภายใต้การดูแลของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งล้วนเป็นคนมีความรู้ความสามารถ”

ตลอดจน ส่งเสริมสนับสนุนให้ “สตรีไทย” เป็นพลังในการพัฒนาสังคม ให้สังคมไทย และประชาคมโลก ตระหนักถึงความสามารถและคุณค่าของสตรีไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานวันสตรีไทยเป็นประจำทุกปี ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า “จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ต่อมาวันที่ 4 สิงหาคม 2566 มีพระราชดำรัสแนะนำทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสตรี ร่วมกันพิจารณาแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง ในการนำนวัตกรรมและ
เทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้สตรีไทยทุกสาขาอาชีพได้เข้าถึง มีประสิทธิภาพก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง ในการพัฒนาสตรีอย่างยั่งยืนได้

นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรไทยที่มีพระบรมราชินี ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทั้งยังทรงองอาจเข้มแข็งงามสง่า มีพระปรีชาสามารถอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในหลายด้าน ทรงเป็นแบบอย่างของ “ผู้หญิงยุคใหม่” ไม่เว้นแม้กระทั่งด้านกีฬา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) เข้าร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบ รุ่นไออาร์ซี ซีโร (IRC Zero) หมายเลขเรือ THA72 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ณ หาดกะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยทรงนำทีมเรือใบ คว้าที่ 1 ทั้ง 2 รอบ ครองแชมป์ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566

และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาเรือใบ ในมหกรรมกีฬาเรือใบเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าวโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง จากหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ไปยังอ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 45 ไมล์ทะเล และทรงนำทีมชนะเลิศการแข่งขัน โดยใช้เวลาแล่นเรือใบข้ามอ่าว 4 ชั่วโมงครึ่ง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้แทน “ทีมวายุ” ที่เป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าว เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลนิรันดรหางเสือเรือพระที่นั่ง “เวคา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเข้าเส้นชัยที่อ่าวเตยงาม เป็นลำดับที่ 1 ด้วยพระวิริยอุตสาหะที่จะทรงสืบสาน สนับสนุนและส่งเสริมกีฬาเรือใบของชาติ เพื่อพัฒนาทักษะนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ให้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติได้

ในการเปิด “ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล ไอซ์ ฮอกกี้ อารีนา เชียงใหม่” อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์กีฬาไอซ์ฮอกกี้ สีน้ำเงิน และทรงร่วมแข่งขันไอซ์ฮอกกี้ คู่เปิดสนามร่วมกับทีมนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ทีมชาติไทย ระหว่างทีม WHITE และทีม BLUE การทรงร่วมทีม BLUE นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงทำคะแนนแรกให้กับทีม โดยเกมการแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี ผลัดกันรุกกันรับอย่างดุเดือดจนจบการแข่งขัน ซึ่งระหว่างที่ทรงแข่งขันอยู่ในสนามนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงสนุกสนานไปกับการแข่งขันตลอดเกม

ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจักรยานเป็นปฐมฤกษ์ ร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ข้าราชการและประชาชนจังหวัดพิจิตร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ด้วยระยะทาง 1 รอบสนาม หรือ 10.28 กิโลเมตร เสร็จแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX) อีกด้วย

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 2567 ขอถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงเป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป.