เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายเรืองเดช ร่วมชัยภูมิ หนึ่งในผู้ร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่าของภาครัฐตั้งแต่ปี 2537 ติดตามปัญหาซึ่งมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมโครงการปลูกป่าแล้วเมื่อไม้ครบอายุการตัดแต่ไม่สามารถที่จะตัดนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเดินทางไปที่บ้านของ นายบุญส่ง สนเสริม อายุ 86 ปี บ้านเลขที่ 141 หมู่ 1 ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าดังกล่าว เมื่อเดินทางไปถึงพบลุงบุญส่งและนางกุหลาบ ภรรยา อาศัยอยู่ในบ้านไม้ชั้นเดียวเก่าทรุดโทรม

ลุงบุญส่ง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองมีพื้นที่ 7 ไร่ ทำอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงวัว หากินไปวันๆ ต่อมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มาเชิญชวนเข้าร่วมโครงการปลูกป่าเมื่อปี 2537 ตนเองจึงเข้าร่วมตั้งแต่นั้นจนปัจจุบันผ่านมา 30 ปี ไม่สามารถที่จะทำการตัดไม้ไปขายได้ เนื่องจากมีการประกาศเปลี่ยนแปลงยกเลิกพื้นที่ทำกิน ตนไม่เข้าใจว่าแต่ละกระทรวงไม่ได้คุยกันเลยหรืออย่างไร ทั้งที่เริ่มแรกก็มีการออกสำรวจ มีงบประมาณสนับสนุน แต่ต่อมาเสมือนความผิดอยู่ที่ชาวบ้าน ตนเองได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่เกือบทุกที่แล้ว จนปัจจุบันนี้หมดแรงที่จะเดินต่อไป วัวที่เลี้ยงก็ต้องขายกิน

ตนเริ่มปลูกป่าตั้งแต่อายุ 50 กว่าปี วันนี้อายุ 86 ปีแล้ว เสียเวลาหมดเงินหมดตัว ปัจจุบันแทบจะสิ้นความหวังแล้ว อยู่ได้เพราะเบี้ยคนชรากับการปลูกกล้วย เลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่ที่เหลือเพื่อขายกินไปวันๆ บนบ้านก็ยังมีลูกชายอายุ 40 กว่าปี ประสบอุบัติเหตุพิการเดินไปไหนไม่ได้ ก็ต้องดูแลจนกว่าใครจะตายจากกัน

ระหว่างที่เล่าไปพลาง ลุงบุญส่งก็น้ำตาคลอเบ้า กล่าวว่า ครั้งหนึ่งตนเองเคยตัดไม้ที่ปลูกจะมาซ่อมบ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่มาพบและยึดทั้งไม้และเครื่องมือไปหมด เลยต้องปล่อยสภาพบ้านเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบ้านจะล้มพังเมื่อไหร่ วันนี้อยากขอความเมตตาและความชัดเจนของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะในส่วนของป่าไม้และกระทรวงเกษตรฯ ได้หาทางออกช่วยเหลืออย่างจริงจังสักที

ด้ายนายเรืองเดช กล่าวว่า ชาวบ้านที่ปลูกป่าทั้งในเขต อ.เมืองกำแพงเพชร และเขต อ.คลองลาน นับร้อยราย ยังไม่ได้รับโอกาสจากกรมป่าไม้แต่ประการใด โดยที่ผ่านมาเคยทำหนังสือไปตามขั้นตอนในระดับพื้นที่ไปถึงสูงสุดของหน่วยงานรัฐที่เริ่มจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมจนไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ปลัดกระทรวง สำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น จนวันนี้เป็นระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาแล้ว

ล่าสุดกรมป่าไม้ได้มอบเรื่องให้กรมที่ดินจังหวัดจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ราษฎรตามโครงการ คทช. (คณะกรรมการที่ดินทำกินแห่งชาติ) และอีกกี่วันของการตรวจสอบของกรมที่ดินเรื่องไปตามขั้นตอนที่ย้อนไปมา เพื่อให้ได้หนังสือคู่มือราษฎรที่มีสิทธิใช้พื้นที่ที่ครอบครอง วันนี้ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรเองมีความรู้สึกว่าทุกขั้นตอนในการทำงานเสมือนยื้อเวลาไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด เหมือนจะพาเราไปกรุงเทพฯ แต่ปล่อยทิ้งกลางทางอยุธยา เราจะต้องหาทางเดินไปกันเอง ปล่อยให้เกษตกรตั้งตารอคอยและติดตามเรื่องเอง โดยที่ไม่รู้ว่าจะไปติดตามอะไรที่ไหนได้อย่างชัดเจนสักที