ย้อนกลับไปประมาณช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เนบุตะแห่งอาโอโมริถือกำเนิดขึ้นด้วยการเดินและเต้นรำไปกับโคมยักษ์ที่เลียนแบบมาจากเทศกาลเนปุตะของอำเภอฮิโรซากิ จนมาถึงราวปลายศตวรรษที่ 19 ก็เปลี่ยนมาเป็นเทศกาลที่มีโคมรูปตุ๊กตาขนาดใหญ่ที่เรียกว่าเนบุตะอย่างในปัจจุบัน โดยมีเหล่าฮาเนโตะที่ออกมากระโดดโลดเต้นอยู่รอบ ๆ ที่จะมาพร้อมกับมือกลองไทโกะ ขลุ่ย นักฉิ่งมือกลุ่มใหญ่ โดยเป็นเทศกาลฤดูร้อนที่จัดขึ้นทุก ๆ วันที่ 2-7 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี ว่ากันว่าในแต่ละปีจะมีผู้คนเดินทางมาร่วมงานเทศกาลนี้กว่า 3 ล้านคน

กว่าจะมาเป็นรถแห่อย่างที่เห็น ทีมงานต้องใช้เวลาตลอดหนึ่งปีเต็มในการออกแบบและสร้างเกี้ยว ซึ่งมักมีความกว้างถึง 9 เมตรและสูงได้ถึง 5 เมตร ปกติแล้วภาพต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาจะเป็นบุคคลในตำนาน เทพเจ้า และภูตผีปิศาจ ตลอดไปจนถึงคนมีชื่อเสียงในท้องถิ่น นักแสดงคาบูกิ หรือแม้กระทั่งตัวละครในทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละครประวัติศาสตร์ “ไทกะ” โดยขบวนแห่พาเหรดเกี้ยวโคมไฟทั้ง 22 ดวงนั้นจะจัดขึ้นในเวลากลางคืนตลอดทั้งเทศกาล ยกเว้นวันสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงบ่าย เทศกาลปิดท้ายด้วยการแสดงดอกไม้ไฟที่กินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จุดเหมาะที่สุดที่จะชมความสวยงามคือบริเวณริมน้ำหรือจากสะพานอ่าวอาโอโมริ

ท่ามกลางบรรยากาศของเทศกาลเนบุตะมัตสึริที่แต่งแต้มสีสันในช่วงหน้าร้อน ที่พักอย่าง Hoshino Resorts Aomoriya มีการจัด “เทศกาลปลาทอง” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ปลาทองเนบุตะ” ขบวนแห่โคมไฟกระดาษขนาดยักษ์แบบดั้งเดิมที่มีรูปร่างเหมือนปลาทองในเทศกาลอาโอโมริเนบุตะมาจัดแต่งสถานที่ โดยเฉพาะทางเดินที่เชื่อมต่อระหว่างจาวาเมะพลาซ่าและปีกตะวันตกของอาโอโมริยะ โคมไฟปลาทอง 350 ดวง จะถูกแขวนเรียงรายตลอดทางเดิน

ว่ากันว่าในอดีตมีปลาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “สึการุ นิชิกิ” มีเพียงขุนนางศักดินาแห่งแคว้นสึการุเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงไว้ ขณะที่ผู้คนต่างใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครองปลาชนิดนี้ด้วยเช่นกัน เพราะจุดเด่นในส่วนของครีบหางที่ยาวและใหญ่ จึงสร้างแบบจำลองขึ้นมาด้วยกระดาษ ก่อนที่ประเพณีฤดูร้อนของอาโอโมรินี้จะได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่อีกคำร่ำลือ เล่ากันว่าคนที่ได้เห็นปลาทองเป็นครั้งแรกแพร่ข่าวลือว่า มีสัตว์น่าขนลุกอยู่ในสระซามูไร หางของมันแบ่งออกเป็นสองหรือสามส่วน ไม่มีครีบหลัง หัวมีสีแดงและมีรอยด่าง ยิ่งกว่านั้นสิ่งมีชีวิตนั้นว่ายน้ำลากริบบิ้นเลือดตามหลังมา ทำให้เกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ เมื่อซามูไรได้ยินเรื่องนี้ พวกเขาก็ทำไม้ไผ่เป็นทรงกลมติดกระดาษไว้ ปิดตาด้วยหมึกสีดำ แล้วเดินไปแจกให้และกล่าวว่า นี่คือปลาที่นำมาซึ่งความสุข จึงขจัดความเข้าใจผิดนั้นไปได้ เด็ก ๆ ที่ได้รับจะวิ่งเล่นไปรอบ ๆ ต่อมาการทำปลาทองก็กลายเป็นอุตสาหกรรมและเป็นงานเสริมของซามูไรแห่งฮิโรซากิ และชื่อของปลาทองก็หมายถึงปลาที่นำทองคำหรือปลานำโชคมาให้นั่นเอง

ส่วนปลาทองเนบุตะแห่งอาโอโมรินั้น แรกเริ่มทำขึ้นโดยนักจัดดอกไม้ของสถานประกอบพิธีศพ เพื่อเป็นงานเสริม มีลักษณะที่โดดเด่นรูปทรงกลมมน มีเกล็ดหยาบ ดวงตาที่เว้นระยะห่างกว้าง ทำให้มีใบหน้าที่ตลกขบขัน และไม่มีครีบหลัง ส่วนกระดาษที่ห้อยลงมาจากด้านซ้ายและด้านขวาว่ากันว่าเป็นการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฟองอากาศที่ออกมาจากเหงือกของปลาทอง

นอกจากโคมไฟปลาหลากสีหลายร้อยโคม และบรรยากาศของเทศกาลเนบุตะที่กรุ่นกลิ่นไอไปทั่วแล้ว ยังมีกิจกรมอื่น ๆ มาเสริมเพิ่มเติมด้วย ไม่ว่าจะเป็น “น้ำแข็งไสปลาทองเนบุตะ” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนแห่ในเทศกาล น้ำแข็งไสราดน้ำเชื่อมเป็นของหวานยอดนิยมที่ให้ความสดชื่นในเทศกาลฤดูร้อนของญี่ปุ่น เพิ่มเติมด้วยการทำให้มีรูปร่างเป็นปลาทองหน้ากลมราดด้วยน้ำเชื่อมสีแดงรสแอปเปิ้ล ตกแต่งด้วยผลไม้หลากสีสันที่ขาดไม่ได้คือแยมแคสซิส เพราะอาโอโมริเป็นผู้ผลิตแคสซิสรายแรกในญี่ปุ่น

“ปลาทองทำนายดวง” การตักปลาทองเป็นเกมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมในช่วงฤดูร้อน ที่ผู้เล่นจะตักปลาทองด้วยที่ตักกระดาษ แต่แทนที่จะตักปลา คุณจะได้รับคำทำนายจากที่ตักกระดาษโดยการจุ่มลงในน้ำ นอกจากจะบอกว่าจะได้รับโชคลาภหรือไม่ ยังมีคำแนะนำเล็ก ๆ
น้อย ๆ ในภาษาถิ่นของอาโอโมริด้วย

“ลอยกระดาษปลาทองยักษ์” กล่าวกันว่าในช่วงต้นยุคเมจิในช่วงเทศกาล ชาวอาโอโมริจะตั้งโคมปลาทองที่ประตูบ้าน พวกเขาจะวางอ่างน้ำทรงกลมไว้ข้างใต้ และเฝ้าดูแสงไฟพลิ้วไหวราวกับปลาที่มีชีวิต ขณะรอการลอยกระดาษเนบุตะในเทศกาล เพื่อสร้างบรรยากาศฤดูร้อนตามแบบฉบับของอาโอโมริขึ้นมาใหม่ มีการติดตั้งแผงขายขนมแอปเปิ้ลสูงประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นตัวแทนของโคมไฟปลาทองขนาดยักษ์ ลูกอมแอปเปิลที่เสิร์ฟจะทำเป็นรูปปลาทองเนบุตะ มีครีบหางขนาดใหญ่ที่ทำจากคุกกี้

เทศกาลเนบุตะซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จับต้องไม่ได้ที่สำคัญของญี่ปุ่น มีการเฉลิมฉลองเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าผ่านเกี้ยวเนบุตะขนาดยักษ์ โดยมีอาโอโมริยะเป็นรีสอร์ทที่มีเอกลักษณ์ตั้งอยู่ในชนบทของญี่ปุ่น ที่นำเสนอประสบการณ์เหมือนสวนสนุกที่จัดแสดงวัฒนธรรมเทศกาลของอาโอโมริท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบ การจัดแสดงเกี้ยวเนบุตะที่อาโอโมริยะ จะจัดแสงตลอดทั้งปี ขณะที่พื้นที่ต่าง ๆ ของรีสอร์ท เช่น ห้องพักและบ่อน้ำพุร้อนสาธารณะจะได้รับการตกแต่งด้วย สำหรับ “เทศกาลปลาทอง” จะมีขึ้นตั้งแต่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2567.