เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เปิดประชุมการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งพบว่า มีนักลงทุนกลุ่มสายการเดินเรือ, กลุ่มบริหารท่าเรือ และกลุ่มการก่อสร้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจกว่า 100 คน เช่น บริษัทดับลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่งจำกัด, บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น

หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว สนข. จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้รูปแบบปัจจัยความเป็นไปได้ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการลงทุน สามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสมคุ้มค่ามากที่สุด

ที่ผ่านมาจากการโรดโชว์ในต่างประเทศได้การตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดออกกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ.SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบัน สนข. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มาที่กระทรวงแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.SEC จะมีสิทธิประโยชน์คล้ายกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.) อีอีซี เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี,สัดส่วนการลงทุน โดยให้นักลงทุนต่างชาติสามารถครองสัดส่วนการลงทุนได้กว่า 51% ขณะเดียวกัน สนข. จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการเข้าพื้นที่ เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขอใบอนุญาตเข้าพื้นที่ ปัจจุบันได้มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว คาดดำเนินการแล้วเสร็จปลายปี 67 จากนั้นจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 68 สนข. เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดโครงการฯ เพื่อประกวดราคาในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปลายปี 68 โดยมีแผนจะก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์แบ่งเป็น 3 ระยะ (เฟส) ดังนี้ ระยะที่ 1 จะก่อสร้างท่าเรือ ทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ โดยสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านทีอียู เปิดให้บริการภายในปี 73 ระยะที่ 2 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 6 ล้านตู้ทีอียู เปิดให้บริการปี 82 และ ระยะที่ 3 รองรับปริมาณตู้สินค้าจำนวน 8 ล้านตู้ทีอียู โดยเปิดให้บริการระยะนี้ต้องรอดูการเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 ระยะก่อน ส่งผลให้ทั้งโครงการสามารถรองรับปริมาณได้ทั้งหมดฝั่งละ 20 ล้านตู้ทีอียู

สำหรับการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการแลนด์บริดจ์มีโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ปี 66 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 แสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

ส่วนรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็นแบบสัญญาเดียว (Single Package) ระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium) 

ด้านรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่าง ๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ