วันที่ 29 พ.ค. นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Surapol Opasatien” ระบุว่า ตามที่ได้มีข่าวสารปรากฏถึงแนวคิดแนวทางในการที่จะช่วยผู้คนซึ่งไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน​ แต่ต่อมาไม่สามารถชำระหนี้ได้​ จนเลยเวลา​ 90 วันหรือค้างเกินกว่า​ 3 งวดหรือเกินกว่า​ 3 เดือนขึ้นไป​ สถานะของลูกหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อดังกล่าวนั้นคือ​ หนี้เสีย​ หรือ​ NPLs

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ลูกหนี้ที่มีบัญชีอย่างนี้ในประวัติของตนก็จะไปขอกู้เงินใหม่อีกครั้งก็จะยากมาก ​ๆ เพราะหนี้เก่าที่ค้างชำระจนเสียนั้นยังไม่จ่าย​ จะมาได้เงินกู้ใหม่ได้อย่างไร​ สถาบันการเงินที่จะมาเป็นเจ้าหนี้ใหม่ก็มีกติกาปกป้องจากผู้กำกับดูแลว่า​ ถ้าตัวคนมายื่นขอกู้เพิ่มใหม่นั้นยังมีบัญชีที่ค้างชำระจนเกิน​ 3 เดือนมาแล้วในเวลาที่ยื่นขอกู้​ และก็ยังไม่ได้ชำระหนี้ดังกล่าว​ การจะอนุมัติเอาเงินฝากของผู้ฝากเงินไปให้กับคนที่มีปัญหายังไม่ได้แก้ไขคงจะทำไม่ได้​แน่นอน

ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่าในช่วงปี​ 2563-2565 มีเหตุการณ์​โรคระบาด​ ส่งผลทำให้เกิด​ income shock มีการสั่งห้ามการพบหน้ากัน​ lock down กัน​ เหตุ​ปัจจัย​นี้จะไปบอกว่าเป็นความผิดของลูกหนี้ที่ค้าขาย​ ทำงาน​ ทำอาชีพอิสระ​ ตั้งใจจะเบี้ยวหนี้จนเป็นหนี้เสียเลยทั้งหมดก็คงไม่ได้​

ดังนั้นในระบบการเงินไทยเราจึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่มีบัญชีหนี้เสียเพราะโควิด-19 ที่เรียกว่า​ บัญชีหนี้เสียรหัส​ 21​หรือ​ บัญชี​ NPLs​ code 21​ ตรงนี้ทุกรัฐบาลก็พยายามหาหนทางในการแก้ไข​

วิธีการในการแก้ไขหลัก ๆ คือการปรับโครงสร้าง​หนี้​ที่มีปัญหาหรือการทำ​ TDR เพื่อให้บัญชีหนี้เสียกลายมาเป็นบัญชีหนี้ปรับโครงสร้าง​ฯ และกลายเป็นบัญชีหนี้ปกติในที่สุด​ แนวทางต่าง ๆ ทางธนาคารแห่งประเทศไ​ทย (ธปท.) มีการกำหนดไว้ รวมทั้งมีความพยายามสื่อสารให้ลูกหนี้​ เจ้าหนี้​ มาตกลงกันในจุดที่พอจะไปกันได้​ จูงมือกันเดินต่อไป​ ผลก็เป็นอย่างที่มีการแถลงตัวเลขกัน

กลับมาที่ประเด็นของเรื่องที่อยากจะแก้ไขกติกาการกำหนดในปัจจุบัน (2​9/05/2567) ว่า​ ถ้าบัญชีใดเป็นหนี้เสีย​ เป็น​ NPLs แล้ว​ หากลูกหนี้รายนั้นที่เป็นเจ้าของบัญชีไม่ยอมจ่าย​ ไม่ยอมปรับโครงสร้าง​หนี้​ที่มีปัญหา​ ไม่ยอมทำ​ TDR ถูกฟ้อง​ ถูกดำเนินคดี​ จะยอมให้มีข้อมูล​ที่แสดงสถานะการเป็นหนี้เสียในระบบของเครดิตบูโรนานเท่าใด​ นับแต่วันที่บัญชี​นั้นค้างเกิน​ 90 วัน​

ถ้าเอาตามกฎหมายในอดีต​ ก็ต้องส่งข้อมูล​การเป็นหนี้เสียเข้ามาในระบบต่อเนื่องไปตลอด​ จนกว่าจะมีการชำระเป็นปกติ​ หรือมีการทำ​ TDR

สมัยท่าน ดร.ประสาร​ ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการ​ ธปท. และเป็น ประธานคณะกรรมการคุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​ หรือ​ กคค. ในเวลานั้น​ ท่านได้พิจารณาว่าเพื่อช่วยลูกหนี้ที่มีบัญชี​ NPLs ในประวัติของตน​ จึงได้มีการหารือกันทั้งระบบสถาบันการเงินและพบว่า​ ในอเมริกาเขาจะเก็บข้อมูล​ไว้นาน​ 7 ปี​ ในอังกฤษ​ 6 ปี​ จึงได้มีการตัดสินใจในวันนั้นโดยออกประกาศ​ของ​ กคค.ออกมารองรับว่า​ ถ้าบัญชีใดค้างเกิน​ 90 วัน และยังไม่มีการชำระกลับมาเป็นปกติ​ หรือยังไม่ทำ​ TDR แล้วหล่ะก็​ ก็ให้เจ้าหนี้ส่งข้อมูล​ต่อเนื่องทุกเดือนเข้ามาในระบบจนครบ​ 5 ปี​

กล่าวคือข้อมูล​ที่ปรากฏในรายงานเครดิตบูโร​จะแสดงข้อมูล​ของปีที่​ 5 ปีที่​ 4 ปีที่​ 3 หรือที่เราเรียกว่า​ 3 ปีย้อนหลัง​ รายงานก็จะบอกว่าบัญชีดังกล่าวนั้นค้างเกิน​ 90 วันแสดงอยู่จำนวน​ 36 เดือน​หรือ​ 36 บรรทัด

จากนั้น เมื่อสถาบันการเงินส่งข้อมูล​เข้ามาจนเห็นเป็นเดือนสุดท้ายของปีที่​ 5 ลากลงมาจนถึงเดือนที่หนึ่งของปีที่​ 3 แล้ว​

ในปีที่​ 6 เดือนที่​ 1 เครดิตบูโรก็เริ่มลบข้อมูล​เดือนที่​ 1 ของปีที่​ 3 และในเดือนที่​ 2 ของปีที่​ 6 เครดิตบูโรก็จะลบข้อมูล​ของเดือนที่​ 2 ของปีที่​ 3 ทำอย่างนี้เรื่อยไป

ดังนั้นข้อมูล​จะทยอยถูกลบไปจนบรรทัดสุดท้ายในระบบจะหายไปในเดือนที่​ 12 ของปีที่​ 8​ รวมระยะเวลาที่บัญชีหนี้เสียดังกล่าวอยู่ในระบบ​คือ​ 8 ปี ​(5ส่ง+3ลบ) โดยจะแสดงผลย้อนหลังตามที่ได้กล่าวมา

ถ้าเป็นเจ้าหนี้ ในปีที่​ 8​ จะเห็นข้อมูล​ว่าบัญชีหนี้สินกรณีนี้เป็นบัญชีหนี้เสีย​ เพราะยังไม่มีการชำระหนี้​ตั้งแต่อดีตนับจากวันที่ค้างชำระเกิน​ 90 วัน​ คือเห็นประวัติย้อนไปได้​ 8 ปีย้อนหลัง​ โดยบรรทัดสุดท้ายที่จะเห็นคือเดือนที่​ 12 ของปีที่​ 5​ หลังจากครบ​ 8 ปีแล้ว​ ข้อมูล​ทั้งบัญชีนี้จะหายไปจากระบบ​

แต่มูลหนี้ไม่ได้หายไป​ เจ้าหนี้เจ้าของบัญชีดังกล่าวยังมีสิทธิในการติดตามหนี้ตามกฎหมาย​ หากแต่สถาบันการเงินอื่นจะไม่เห็นข้อมูลนี้หากลูกหนี้เจ้าของบัญชี​ NPLs นี้ไปยื่นขอกู้ใหม่​กับสถาบันการเงินใหม่

ระยะเวลา​ 8 ปี จึงเป็นเหมือนกติกาที่แลกเปลี่ยน (Trade off) ระหว่าง​การไม่ยอมชำระหนี้​ การไม่ทำ​ TDR แลกกับการกู้เงินไม่ได้ในช่วง​ 8 ปี​ เพื่อปกป้องคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันการเงิน​จะเอามาให้กับลูกหนี้รายนี้​ วันนั้นมองกันว่า​ สมควรแกเหตุอยู่ที่ตรงนี้ ใครจะเห็นด้วยเห็นต่างในวันนี้​ ขอไม่อภิปรายต่อสู้ใด ๆ ทั้งสิ้น

คำถาม​ คือ การแก้ไขลดระยะเวลาจาก​ 8 ปีทำได้หรือไม่​? คำตอบ คือ​ ทำได้ ทำได้โดยการออกประกาศ​ของคณะกรรมการ​คุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​หรือประกาศ​ กคค.

โดยต้องชั่งน้ำหนักว่า​ ความเสี่ยงและการแลกเปลี่ยน​ หรือเป้าหมายที่จะให้ลูกหนี้เจ้าของบัญชีหนี้เสียที่ไม่จ่าย​ ไม่ทำ​ TDR นั้นสามารถยื่นขอกู้ได้โดยว่าที่เจ้าหนี้ใหม่ไม่เห็นข้อมูล​เมื่อใด​ ความเสี่ยงของสถาบันการเงินและผู้ผากเงินรับได้ตรงไหน​ มาตรฐาน​สากลเป็นอย่างไร​ หากมีข้อมูล​ครบ​ ตัดสินใจได้ เครดิตบูโร​ไม่มีอำนาจตัดสินใจ​ มีหน้าที่ดำเนินการตามประกาศ​คำสั่งอย่างเดียว

ย้ำอีกครั้ง “ไม่ต้องแก้กฎหมาย​ ทำแค่ออกประกาศ​ใหม่ทับประกาศเก่า จะทำหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการ​คุ้มครอง​ข้อมูล​เครดิต​หรือ กคค. คณะกรรมการฯดังกล่าวมีท่านผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน​ มีท่านผู้ช่วยผู้ว่าการ​ ธปท. เป็นเลขานุการ ในส่วนของคณะกรรมการ​บริษัทของเครดิตบูโร​ หรือตัวผมเองไม่มีอำนาจใด ๆ เลย​ในเรื่องนี้ มีหน้าที่ให้ข้อมูล​และรับคำสั่งมาปฏิบัติอย่างเดียว”

ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก Surapol Opasatien ณ วันที่ 29 พ.ค.67