เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 29 พ.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้ นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายงานสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นายวิษณุในด้านลบ เป็นห่วงความรู้สึกของนายวิษณุหรือไม่ ว่า เชื่อว่าตามที่เราได้มีการพูดคุยกัน สำหรับตนขอพูดในฐานะส่วนตัว แน่นอนเรามีความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหลายๆ เรื่องในอดีต และเห็นด้วยก็มีหลายเรื่อง ชื่นชมก็มีหลายเรื่อง และที่ตนพูดไปหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องของความ ไม่ใช่เรื่องของคน 

“ผมอาจจะไม่เห็นด้วยบางเรื่อง เหมือนกับทุกท่าน เราอยู่ด้วยกันกับคนที่บ้าน หรือเพื่อนๆ เรา สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็มีใช่หรือไม่ แต่หลายเรื่องเราก็เห็นด้วย อันนี้เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย เห็นต่างแต่อยู่ด้วยกันได้ ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ คือท่านเป็นคนมีความรู้ความสามารถ เพราะฉะนั้นอาจจะมีเรื่องในอดีตที่เราไม่เห็นด้วย แต่ผมเชื่อว่าเราสามารถสื่อสารกันได้ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราสามารถมาทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามว่า เป็นการดึงนายวิษณุมาช่วยในคดี 40 สว. ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าดึงท่านเข้ามาทำเรื่องคดี 40 สว. แต่มาเป็นที่ปรึกษา สลค.และท่านก็มีหน้าที่ตามที่ได้ประกาศไป คุยราชการได้ มีหน้าที่ให้สัมภาษณ์ได้ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ คงเป็นหลายๆ เรื่องที่ท่านมีความชำนาญ และไม่ได้บอกว่าเอามาช่วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่ได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เหมือนที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหลายๆ ท่าน 

เมื่อถามอีกว่า ขั้นตอนของคำสั่งเสร็จแล้วหรือยัง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ไม่แน่ใจเหมือนกันเซ็นไปแล้ว แต่เดี๋ยวต้องดูอีกที เพราะยังไม่ได้กลับเข้าทำเนียบเลย เช้าวันที่ 30 พ.ค. คงให้ความกระจ่างได้ดีขึ้น แต่ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนของรายละเอียด เพราะเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา  เห็นบอกว่าตนเซ็นไปแล้ว แต่มีการสะกดผิด ซึ่งยังไม่แน่ใจต้องกลับไปดู อันนี้คือข้อเท็จจริง ถึงบอกยังไม่ได้อยากจะพูดอะไร เพียงแต่มันมีประเด็นนิดนึงเดี๋ยวขอไปดูก่อน” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดนายกฯ ลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้ นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายงานสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยมอบหมายหน้าที่หลักๆ ช่วยพิจารณากลั่นกรองงานกฎหมาย ที่จะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้คำปรึกษานายกฯ ด้านกฎหมาย เป็นต้น.