วันที่ 29 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากซูบารุประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ซูบารุ ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีผลในสิ้นเดือนธันวาคม 2567 ทำให้พนักงานทั้งหมดถูกเลิกจ้าง โดยแหล่งข่าวจากบริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าตลาดรถยนต์ในไทยเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และแข่งขันดุเดือด โดยเฉพาะรถไฟฟ้า (อีวี) จากจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทยแล้วใช้สงครามราคา (ดั๊มพ์ราคา) อย่างหนัก จนทำให้ค่ายรถเจ้าใหญ่ขายจำนวนมากยังแข่งขันได้ลำบาก

ส่วนยอดขายซูบารุลดลงตามลำดับจากปี 64 ขายได้ 2,953 คัน ปี 65 ลดลงมาอยู่ที่ 2,282 คัน ปี 66 อยู่ที่ 1,682 คัน ขณะที่ยอดขายรวมระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ปีนี้อยู่ที่ 344 คัน รวมทั้งขาดทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ยังดำเนินกิจการอยู่ แต่ปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์ 100%

“ยอมรับว่าการขายรถใหม่ต้องประคองตัว จนกระทั่งยอดขายลดลงมาก อีกทั้งไม่สามารถขายตัดราคาแข่งขันได้ ทางบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของซูบารุ ตัดสินใจแจ้งยกเลิกการจ้างพนักงานล่วงหน้า 7 เดือน พร้อมจ่ายชดเชยตามความเหมาะสม ส่วนรูปแบบการทำตลาดจากนี้ไปจะเน้นการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (ซีบียู) 100% มาขายแทน เน้นรถไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ (ที่สมรรถนะสูงๆ) เพราะยังมีกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบรถแรงๆ อย่างแบรนด์ ออดี้ เปอโยต์”

สำหรับการนำเข้ารถจากญี่ปุ่น ยังมีต้นทุนภาษีสูงเมื่อเทียบกับรถจีน แต่กลุ่มลูกค้าระดับสูงยอมรับมาตรฐานการผลิต อย่างเช่น ดับเบิลยูอาร์เอ็กซ์ ซึ่งเป็นรถนำเข้าซีบียูยังเป็นที่ต้องการอยู่ โดยดีลเลอร์ 24 แห่งหรือรวมทั้งศูนย์บริการ 27 แห่งนั้นยังให้บริการเหมือนเดิม นอกจากนี้จะมีแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพื่อเคลียร์สต๊อกรถที่มีอยู่ ขณะเดียวกันจะมุ่งทำตลาดรถไฮเพอร์ฟอร์มานซ์แทน

อนึ่ง! บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร ลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท มี ตันจง กรุ๊ป (TCIL) ถือหุ้น 74.9% และ บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น คือซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 25.1% มีพนักงานประมาณ 400 คน