พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่หมู่เกาะพยาม ซึ่งมีเกาะพยาม เกาะขาม เกาะนุ้ย จ.ระนอง พบว่า มีปะการัง 1,578 ไร่ สถานภาพสมบูรณ์ แต่มีบางส่วนอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม หญ้าทะเล พื้นที่ 12 ไร่ สถานภาพเสียหายมาก และป่าชายเลน 481 ไร่ ทรัพยากรทางทะเลส่วนใหญ่ที่เสื่อมโทรมอาจเกิดขึ้นจากการขยายตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่เกาะพยาม เช่น การสร้างรีสอร์ท และที่พัก กิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาขยะจากแหล่งชุมชน การทิ้งสมอเรือและเครื่องมือประมงบางชนิดในแนวปะการัง ที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ทำให้สภาพทรัพยากรปะการังเสื่อมโทรม ตนในฐานะผู้นำด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่ จึงได้เร่งรัดผลักดันร่างประกาศกระทรวงฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พื้นที่หมู่เกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ

กระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประชุมครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ซึ่งร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าวได้กำหนดมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ห้ามทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย ตะกอน การท่องเที่ยวดำน้ำ อันส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง การให้อาหารสัตว์น้ำ การทำประมง การขุดหรือถมทะเล การจับหรือครอบครองปลาสวยงาม โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และมีระยะเวลาบังคับใช้ห้าปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ เมื่อประกาศกระทรวงฯ ได้รับการเห็นชอบจากครม.แล้ว ตนเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลและติดตามการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายากที่มีคุณค่าในพื้นที่ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีแนวทางการอนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลและพื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งให้มีการติดตามและประเมินผลกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมกำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ กำหนดพื้นที่จอดเรือ กำหนดพื้นที่เข้าออกของเรือ หรือพื้นที่อื่นใด กำหนดรูปแบบทุ่นจอดเรือ ทุ่นแสดงแนวเขต

นอกจากนี้ ตนได้กำชับให้กรม ทช. คอยให้ข้อมูล และคำปรึกษา ผสานการมีส่วนร่วมกับชุมชนชายฝั่ง เพิ่มรายได้กิจการประมงท้องถิ่นและเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำให้เกิดรายได้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติ ต่อไป