เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงกับสื่อมวลชน ในโอกาสการครบรอบ 2 ปีของการทำงาน ภายใต้ชื่องาน “2 ปี ทำงาน ‘เปลี่ยน ปรับ’ ยกระดับเมืองน่าอยู่” พร้อมทั้งแสดงวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เดิมกรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุก แต่ประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น Traffy Fondue คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยตัดขั้นตอนจากที่ต้องใช้เอกสารมากมายเปลี่ยนมาเป็นการออนไลน์ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่ง 2 ปีที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนความเดือดร้อนผ่าน Traffy Fondue ได้ลงมือแก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว 465,291 เรื่อง จากที่มีการร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 588,842 เรื่อง คิดเป็น 78% อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมา ลดลง 97% จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

“Traffy Fondue เกิดขึ้นมาแล้ว 4 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนมาใช้บริการ เราเข้ามาแก้ปัญหาให้เร็วขึ้นจากใช้เวลา 2 เดือน สองปีที่ผ่านไปทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้นจาก 2 เดือนเป็น 2 วัน จากเรื่องร้องเรียนที่ค้างอยู่ 5.9 แสนเรื่อง ไม่ใช่จุดอ่อน เพราะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,600 ตร.กม. ต้องใช้เวลา แต่ลึกลงไปกว่านั้น Traffy Fondue คือความไว้วางใจของประชาชน ขณะเดียวได้เข้ามาเปลี่ยนมายด์เซตวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่”   

นายชัชชาติ กล่าวว่า เมืองที่ดีทั่วโลกคือเมืองที่เดินดี กรุงเทพฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะได้ ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง คือการปรับปรุงทางเท้าใหม่ ที่ผ่านมา 2 ปี ได้ปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 785 กม. และภายในระยะเวลา 4 ปี จะปรับปรุงทางเท้าระยะทาง 1,600 กม. ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ปรับพื้นทางเข้าออกอาคารให้เรียบเสมอทางเท้า ลดความสูงของทางเท้าเหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. และติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับคนพิการและผู้สูงวัยได้ใช้ง่าย เดินง่ายขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแอลอีดี 8.5 แสนดวง พร้อมกันนี้ยังใช้ระบบ IOT (Internet of Think) ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าจุดไหนไฟเสีย เพื่อง่ายต่อการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดยระบบ IOT ที่ติดกับหลอดไฟ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบได้ว่ามีพื้นที่น้ำท่วม และค่าฝุ่นที่เกินมาตรฐาน  พร้อมกันนี้ยังจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังในถนนสายต่างๆ รวมระยะทาง 627 กม.

สำหรับปัญหาการแก้ปัญหาน้ำท่วมในปี 2565 พบจุดสำคัญที่ต้องแก้ไข 737 จุด ขณะนี้แก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขได้ทันในปี 67 อีก 190 จุด ตัวอย่างบริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งมีระดับน้ำท่วมสูงถึง 40 ซม. เมื่อเกิดฝนตกหนักแต่ระดับน้ำก็ลดลงเร็ว กทม. เข้าไปแก้ปัญหาในจุด 8 จุด โดยส่วนที่ทำเสร็จแล้ว ได้แก่ การทำท่อเชื่อมเร่งระบายน้ำ ก่อสร้างบ่อสูบน้ำ และลอกท่อระบายน้ำถึงคลองน้ำแก้ว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมรับมือน้ำท่วม โดยล้างท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,200  กม.

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เมืองที่ดี คือเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะ กทม. ได้พัฒนาสวนสาธารณะ 15 นาที ซึ่งเป็นสวนขนาดเล็กขนาดพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา ที่ใกล้ชิดกับชุมชนด้วยระยะการเดินไม่ถึง 15 นาที หรือด้วยระยะทางเดิน 800 เมตร โดยวางเป้าหมายที่จะพัฒนา 500 แห่ง ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง