เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ รร.อินเตอร์คอนฯ กรุงเทพฯ นสพ.เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ได้จัดงานเสวนา เดลินิวส์ ทอล์ก 2024 เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี หัวข้อ โจทย์ใหญ่!! อสังหาริมทรัพย์ไทยฟื้นอย่างไรให้ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ครบ 5 ปี ภาษี ที่ดินฯ : อนาคตอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทย”

พร้อมทั้งมีงานเสวนาเรื่อง “ส่องอสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมผงาดแค่ไหน?” โดยนายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด และ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

โดยมี นางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล และนางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ นายนต รุจิรวงศ์ เลขานุการคณะกรรมการบริหาร และ นายนนท์ รุจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและจัดจำหน่าย พร้อมด้วยผู้บริหารเดลินิวส์ ให้การต้อนรับ

นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เดลินิวส์ครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเดลินิวส์ได้จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ในหลายรูปแบบ รวมถึงวันนี้ได้จัดงานเสวนาเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 เรื่อง “ส่องอสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมผงาดแค่ไหน? มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างฝ่ายนโยบาย และภาคเอกชน ถึงทิศทางของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ และมีความสำคัญไม่น้อยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย “เดลินิวส์” เล็งเห็นว่าการนำเสนอข้อมูลผ่านเวทีเสวนาในครั้งนี้ จะได้ส่งต่อไปยังรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป

นอกจากเวทีเสวนานี้แล้ว ในปีนี้ เดลินิวส์จะมีการจัดเสวนาอีกหลายเวที ทั้งเวทีเสวนา เรื่องจับเข็มทิศอุตสาหกรรมไทยไปทางไหน?, เวทีเสวนา ใช้ชีวิตง่ายๆ แบบรักษ์โลก และเวทีเสวนา เรื่อง พลิกโฉม ท่องเที่ยวไทยจะไม่เหมือนเดิม อีกด้วย

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ “ครบ 5 ปี ภาษี ที่ดินฯ : อนาคตอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทย” ระบุว่า รัฐบาลมองว่าการดูแลเศรษฐกิจในช่วงงบประมาณปี 67 ยังไม่ออกมาใช้ ได้ใช้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ บางมาตรการทำต่อเนื่อง และบางมาตรการยังไม่เคยทำ เช่น กระตุ้นมูลค่าบ้านสูงกว่า 3 ล้านบาท

ในหลายเรื่องมองว่าภาคอสังหาฯ มีพลังสร้างแรงส่งต่อเศรษฐกิจไทย สต๊อกถูกระบายออกและเกิดการลงทุนใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีกว่าไตรมาสแรก ซึ่งในช่วงงบประมาณยังไม่ถูกใช้ ยังไม่มีลงทุนภาครัฐที่จะเป็นขนาดใหญ่ เชื่อว่าไตรมาส 2-3 และมาตรการอื่นที่จะออกมาเป็นระยะ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพมากที่สุด

นายลวรณ กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยอมรับเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการและประชาชน ในปี 67 นี้ครบ 5 ปี ซึ่งจะมีการทบทวน 5 ปีที่ผ่านมา ว่าตอบโจทย์ได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ดี ก็แก้ไขได้ ทำให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่

ล่าสุดที่ไทยได้ทำรายได้ภาษี ต้องย้อนไปในปี 2535 ภาษีมูลค่าเพิ่มใช้สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก่อนมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเป็น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ช่วงนั้นเชื่อว่า 2 ภาษีนี้ เป็นภาษีที่ดีและเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันปัญหาเยอะมาก จึงปรับปรุงให้เป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

“ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหามาก จึงเลือกออกกฎหมายใหม่ ลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ เพราะเก็บแบบเดิมผลที่ตามมาคือเก็บภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงที่ดินเป็นสะสมความมั่งคั่ง เพราะเศรษฐีไม่ขาย เก็บไว้ให้ถูกหลาน โดยการมีภาษีที่ดินฯ จะทำให้เกิดการทำประโยชน์มากขึ้น”

ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ภาษีที่ดินเก็บไปแล้ว ไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งเป็นของท้องถิ่นทั้งหมด เป็นเงินที่สามารถใช้ได้เองตามความต้องการของท้องถิ่น เช่น ทำถนน สิ่งแวดล้อม เป็นเงินอิสระท้องถิ่นเก็บเองก็ใช้เอง เปรียบเสมือนค่าส่วนกลาง และท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์ นำรายได้ไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับผลของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิมคาด 40,000 ล้านบาทต่อปี โดยผลการจัดเก็บในปี 62 เริ่มมีผลใช้ แต่มีโควิดจึงปรับลด 90% เก็บภาษีจริง 10% จนถึงปี 64 และปี 65 เก็บภาษี 100% จัดเก็บได้ 35,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเก็บภาษีโรงเรือน 36,000 ล้านบาท และในปี 66 ได้กลับมาลด 15% เป็นมาตรการเยียวยา เพราะเป็นปีที่ปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่ม โดยในปี 67 คาดว่าจะได้ 43,000 ล้านบาท

“เชื่อว่าโอกาสท้องถิ่นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ทำได้อีกเยอะ แม้อุปสรรคยังมี การเปลี่ยนมือที่ดินฯ ข้อมูลยังไม่มีการเป็นล่าสุด เพราะเจ้าของเปลี่ยนมือแต่ข้อมูลไม่เปลี่ยน ทางท้องถิ่นต้องมีเครื่องมือความทันสมัย ในการจัดเก็บที่ดิน ซึ่งราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม ท้องถิ่นต้องขยัน ออกแรง ในเขตความรับผิดชอบและทำประโยชน์”

ทั้งนี้ การสำรวจของท้องถิ่นข้อมูลน่าสนใจ คือ ปีแรกมีเสียภาษี 7 ล้านคน แต่มาปี 65 มีจ่ายภาษี 16 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาก และ กทม. เป็นฐานภาษีใหญ่ที่สุด ได้สำรวจ 99.4% ทุกแปลงทุกที่ มีที่ดิน 2.1 ล้านแปลง บ้านเรือน 2.2 ล้านหลัง อาคารชุด 1 ล้านหลัง

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของกระทรวงการคลัง อปท. กทม. ให้ตรวจสอบที่ดินให้ครบถ้วนและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มีโปรแกรมท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี มีระบบบริหารจัดการในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความแม่นยำ และสามารถโต้แย้งได้ถ้าจัดเก็บไม่ถูกต้อง

ความท้าทายคือการกำหนดอัตราเสียภาษี และกำหนดเป็นขั้นต่ำ แต่เป็นสูงขึ้นได้ ถ้าชี้แจงคนในท้องถิ่นว่าเก็บสูงเพื่ออะไร กระทรวงการคลัง คาดหวัง คือ 1.ท้องถิ่นจะแข็งแรง เข้มแข็ง ท้องถิ่นต้องอิสระในการกำหนดนโยบาย จัดเก็บรายได้ ภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือหลักหารายได้ตนเอง 2.ปรับปรุงกฎหมาย

ซึ่งปรับปรุงกฎหมายภาษีที่ดินฯ มีกระบวนการเปิดรับฟังความเห็นระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-15 พ.ค. 67 มีผู้ให้ข้อคิดเห็น 500 กว่าราย หลังจากนี้จะนำมาประมวลข้อเสนอ ความเห็น มาทำแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ คาดปลายปีนี้จะเสร็จ เชื่อว่าเป็นภาษีที่ดี และมาปรับในบางเรื่อง เวลาใช้จริงเจออุปสรรค มีปัญหาตรงไหน ทุก 5 ปีมาคุย ให้คำแนะนำพร้อมนำไปปรับ