ฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) กล่าว

เป็นความเห็นที่น่าสนใจของ องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่ล่าสุดได้ทำการสำรวจระบบเกษตร-อาหารใน 154 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย และสรุปในรายงาน State of Food and Agriculture สถานะอาหารและเกษตรกรรมเปิดระบบเกษตร-อาหารทั่วโลก เป็นต้นทุนแฝง ซึ่งประเทศไหน ยิ่งมีต้นทุนแฝง จะยิ่งไม่ดี ทำให้เกิดผลลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพประชากร จึงเสนอให้ประเทศต่าง ๆ วัดต้นทุนที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ผลสำรวจ เอฟเอโอ พบว่า การทำเกษตรกรรม และการผลิตอาหาร จากภาคเกษตรซํ้าเติมวิกฤติสภาพอากาศ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่ประชากรโลกส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประมาณความเสียหายต่อปีเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1 ใน 10 ของการเติบโตของเศรษฐกิจของโลก

ใน ด้านสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์คิดจากต้นทุนของการเกษตรและการผลิตอาหารภาคเกษตรที่วัดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซไนโตรเจน การใช้ทรัพยากรนํ้า และการใช้ที่ดิน โดยต้นทุนแฝงเร้นที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมีมูลค่าเทียบเท่า 1 ใน 5 ของต้นทุนแฝงเร้นทั้งหมด รายงานระบุปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศ และน่าจะมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดไว้เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันยังจำกัด

ผลลบในด้านสังคม ที่ชัดเจน มาจากความยากจนของแรงงานในภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร โดยประมาณการว่ารายได้ของแรงงานที่ทำงานในระบบเกษตรอาหารในประเทศที่มีรายได้ตํ่าน้อยเกินไป 57% และในประเทศที่มีรายได้ขั้นกลางน้อยเกินไป 27%

ใน ด้านสุขภาพ พบว่าประมาณ 73% ของต้นทุนแฝงเร้นเหล่านี้ทั่วโลก มาจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือดีไม่เพียงพอต่อสุขภาพในรูปของอาหารที่ผ่านการแปรรูปอย่างเข้มข้น ไขมันและนํ้าตาล ทำให้ประชากรเกิดความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โดยต้นทุนแฝงเร้นประเภทนี้กลับพบมากในประเทศที่มีระดับรายได้ที่สูง หรือระดับรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง

ทั้งนี้รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมต้นทุนแฝงเหล่านี้ในระดับประเทศ นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันด้วยการจัดหมวดหมู่และมาตรฐานเดียวกัน และจัดทำข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐและภาคเอกชนด้วยการวิเคราะห์รายละเอียดอย่างสมํ่าเสมอผ่านการทำบัญชีต้นทุนที่ครอบคลุม

จากการเปรียบเทียบในระดับประเทศพบว่า ประเทศที่มีรายได้ตํ่าต้องแบกรับผลกระทบของต้นทุนแฝงที่มาจากระบบเกษตรอาหารอย่างหนักหน่วง เทียบเท่ากว่า 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เทียบกับ 12% สำหรับประเทศที่มีรายได้ระดับกลางและ 8% ในประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ในประเทศที่มีรายได้ระดับตํ่าต้นทุนแฝงเร้นส่วนใหญ่มาจากความยากจนและคุณภาพของโภชนาการ

เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับอีก 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่า ประเทศไทยมีต้นทุนแฝงโดยรวมมูลค่า 106,258 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดยต้นทุนแฝงเร้นที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากแบบแผนในการบริโภคอาหาร ตามด้วยด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งการปล่อยก๊าซไนโตรเจนเป็นสัดส่วนมากที่สุด และด้านสังคมตามลำดับ

“เอฟเอโอ” เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ใช้ระบบบัญชีที่สามารถบันทึกต้นทุนแฝงเร้นเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรอาหาร และมีมาตรการ เพื่อชดเชยผลกระทบที่มีต่อวิกฤติสภาพอากาศ ความยากจน ความเหลื่อมลํ้า และปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร โดยเน้นที่นวัตกรรม ข้อมูล การลงทุนเพื่อจัดเก็บข้อมูล และการสร้างความสามารถในการแก้ปัญหา

นอกจากนี้การใช้ระบบบัญชีที่สามารถวัดต้นทุนที่แท้จริงจะทำให้ประมาณการต้นทุนแฝงเหล่านี้ได้ และทำให้ผู้วางนโยบายมีหลักฐานและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ.