สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นเผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับการที่ประชาชนเก็บเงินสดซึ่งพบเจอตามสถานที่สาธารณะ แล้วนำไปแจ้งตำรวจมากเป็นประวัติการณ์ที่ราว 22,800 ล้านเยน (ราว 5,330 ล้านบาท) เมื่อปี 2566 เพิ่มขึ้นราว 1,700 ล้านเยน (ราว 397 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2565


ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นระบุด้วยว่า การแจ้งความลักษณะนี้ ยังรวมถึงกรณีผู้แจ้งพบทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่เงินสดที่สูญหาย 29.79 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นราว 3.15 ล้านรายการ เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2565 และเป็นสถิติสูงที่สุด นับตั้งแต่มีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้ เมื่อปี 2514


ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นดังกล่าว มีปัจจัยมาจากการที่ผู้คนกลับมาสัญจรทางเท้าอีกครั้ง ภายหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมทางสังคม เพื่อสกัดโรคโควิด-19 โดยสถิติสูงสุดก่อนยุคโควิด อยู่ที่ 29.75 ล้านรายการ เมื่อปี 2562


อนึ่ง กฎหมายทรัพย์สินที่สูญหายของญี่ปุ่น ระบุว่า ผู้ที่พบเงินสดและทรัพย์สินใดก็ตาม หากนำไปแจ้งกับตำรวจซึ่งต้องรับดูแลสิ่งของเหล่านั้น หากไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ ภายในระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่มีการรับเรื่อง เงินสดและสิ่งของเหล่านั้นจะตกเป็นของผู้ที่เก็บได้ ยกเว้นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในกรณีที่ผู้พบเงินสดและสิ่งของปฏิเสธรับ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าคลังของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES