นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบาย และเน้นย้ำให้สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ผลิตหลักสูตรที่มีความทันสมัย และรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมเกี่ยวกับนักบินอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อให้สามารถผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านการบินอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่มีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามหลักสากล เนื่องจากปัจจุบันโดรนได้รับความนิยมในการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย และโดรนมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถทำงานได้หลายอย่าง รวมทั้งมีศักยภาพในการบินที่สูงมากขึ้นด้วย 

ด้าน น.ส.ภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการ สบพ. กล่าวว่า สบพ. โดยกองวิชาบริการการจราจรทางอากาศ (กวจ.) มีความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ในหลักสูตรสำหรับนักบินอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (โดรน) เพื่อผลิตนักบินโดรน ให้มีความรู้ความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีทักษะในการบินโดรนที่ถูกต้อง และปลอดภัยตามหลักสากล และเป็นไปตามกฎหมายด้านการบินของประเทศไทย เพื่อรองรับการจ้างงาน และพัฒนาทักษะอาชีพนักบินโดรนของประเทศไทยที่มีศักยภาพในอนาคต  

น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า สบพ. ได้เตรียมจัดทำหลักสูตรนักบินโดรนไว้แล้ว 7 หลักสูตรตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกอบด้วย 1. หลักสูตร Basic Drone Flying Skills For The Beginner (ทักษะการบินโดรนสำหรับผู้เริ่มต้น) 2. หลักสูตร Remote Pilot Visual Line of Sight Certificate Course. RVC (Multi-Rotor) หลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทปีกหมุน 3. หลักสูตร Remote Pilot Aircraft Certificate Course. (Agriculture) หลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทโดรนเกษตร

4. หลักสูตร Remote Pilot Aircraft Certificate Course. (Engineering Survey Drones) หลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทโดรนสำรวจทางวิศวกรรม 5. หลักสูตร Remote Pilot Aircraft Certificate Course. (Public Disaster Relief Drones) หลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทโดรนบรรเทาสาธารณภัย) 6. หลักสูตร Remote Pilot Aircraft Certificate Course. [Engineering Survey Drones: Beyond Visual Line of Sight (BVLOS) หลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทโดรนสำรวจทางวิศวกรรม (ระยะเกินสายตา) และ 7. หลักสูตร Unmanned Aircraft System for Executive หลักสูตรอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน สำหรับผู้บริหาร

น.ส.ภัคณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สบพ. ได้เริ่มประกาศรับสมัครบุคลากรที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมทั้ง 7 หลักสูตรแล้ว หลักสูตรละประมาณ 20 คน โดยแต่ละหลักสูตรจะใช้เวลาการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติไม่เท่ากัน อยู่ที่ประมาณ 2-9 วัน ค่าใช้จ่ายหลักสูตรละประมาณ 2 หมื่นบาท ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจมาสมัครบ้างแล้ว แต่ยังไม่เต็มจำนวน อย่างไรก็ตาม สบพ. เคยเปิดสอนหลักสูตรนักบินอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ประเภทปีกหมุนมาแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน โดยอบรมให้กับบุคคลทั่วไป และบุคลากรจากบริษัทเอกชน รวม 18 คน แต่ต้องหยุดหลักสูตรไป เนื่องจากรอ กพท. ประกาศกฎหมายใหม่ในการจัดทำหลักสูตรฯ จนกระทั่งปัจจุบันได้กลับมาทบทวนหลักสูตรดังกล่าว และเปิดใหม่อีกครั้ง.