คริสเทล นีลเสน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์แห่งสวีเดน ผู้นำทีมศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างรอยสักกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโครงการล่าสุด ได้ออกแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุถึงความเกี่ยวข้องระหว่างรอยสักกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นีลเสน ย้ำว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่พบได้ยาก และผลจากการศึกษายังจำกัดอยู่ในระดับกลุ่ม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและสืบหารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งกำลังดำเนินต่อไปอยู่ในขณะนี้

สำหรับกรณีศึกษาที่ตีพิมพ์ใน eClinicalMedicine นี้มีผู้เข้าร่วม 11,905 คน โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามในหัวข้อเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ซึ่งระบุว่าพวกเขามีรอยสักหรือไม่ และพบว่าผู้ที่มีรอยสักจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuse large B-cell lymphoma (DLBCL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดโตช้าหรือ Follicular lymphoma อยู่ในระดับสูงสุด

นีลเสนอธิบายว่า เมื่อหมึกสักถูกฉีดเข้าไปในผิวหนัง ร่างกายจะถือว่ามันคือสิ่งแปลกปลอม ต้องกำจัดออกไป จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันก็จะเริ่มทำงาน ซึ่งทำให้หมึกส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากผิวหนังไปยังต่อมน้ำเหลืองและเข้าไปสะสมอยู่ในนั้น

ทีมงานตั้งสมมุติฐานว่าขนาดของรอยสักจะส่งผลต่อความเสี่ยงของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่กลับปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยสักขนาดเล็กหรือใหญ่ก็กระตุ้นการติดเชื้อในระดับต่ำได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกระตุ้นเซลล์มะเร็ง 

นีลเสนกล่าวว่าการศึกษาครั้งนี้ไปเน้นที่ความสำคัญของการกำกับดูแลสารเคมีในหมึกสัก 

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 3 มีรอยสักซึ่งในจำนวนนี้มี 22% ที่มีรอยสักมากกว่า 1 แห่ง โดยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐถือว่าหมึกสักเป็นเครื่องสำอางและเม็ดสีเป็นสารเติมแต่งสี ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่ได้มีการควบคุม

แผนการต่อไปของทีมงานของนีลเสนก็คือการมองหาความเชื่อมโยงระหว่างรอยสักกับมะเร็งชนิดอื่นๆ รวมถึงโรคที่ทำให้เกิดอาการอักเสบอื่นๆ ด้วย

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES