เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ห้องประชุมบ่อผุด วิทยาลัยสหวิทยาการ เกาะสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผวจ.สุราษฎร์ธานี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายอำเภอเกาะสมุย, ตัวแทนเทศบาลนครเกาะสมุย, ที่ดินอำเภอเกาะสมุย, สรรพากรพื้นที่เกาะสมุย และตัวแทน กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อรับฟังปัญหาเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน และการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย หลังเดลินิวส์เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

เผยพบกลุ่มทุนต่างชาติเข้าถือครองที่ดิน-ทำธุรกิจวิลล่าเกาะสมุย ตั้งแต่ปี2560

โดยที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานถึงความเป็นมา อุปสรรคปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะประเด็นการโอนสิทธิการครอบครองที่ดินให้กับชาวต่างชาติ โดยนายสัมพันธ์ สุดแสง ที่ดินอำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า การเข้ามาถือครองที่ดินของชาวต่างด้าวบนเกาะสมุย จะเป็นในรูปแบบของนิติบุคคล เมื่อมีผู้มาขอทำนิติกรรม เจ้าหน้าที่ที่ดินมีหน้าที่ตรวจสอบ ว่าเป็นบริษัทนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ มีรายงานการประชุมที่เป็นมติของกรรมการบริษัท ในการทำนิติกรรม ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97 เท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพิจารณานอกเหนือตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจมีความผิด ม.157 ดังนั้นเมื่อมีบริษัทนิติบุคคลมาดำเนินการทำนิติกรรม เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาต

อย่างไรก็ตาม นายเจษฎา เปิดเผยว่า การเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากำชับ สั่งการให้รวบรวมปัญหาข้อติดขัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน และการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติบนเกาะสมุย เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้บานปลายและยั้บยังปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมอบหมายให้นายอำเภอเกาะสมุย เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ควบคู่ไปกับการทำงานแก้ไขทางกฎหมายของ กอ.รมน. นำเสนอข้อมูลผ่านมายังตน ซึ่งตนในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัด ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือที่ดิน ปกครองท้องที่ เทศบาล และโยธาธิการ จะเป็นผู้นำเสนอแผนงานผ่าน กอ.รมน.จังหวัดไปยัง รมน.ภาค 4 ต่อไป

นายเจษฎา ยังได้เน้นย้ำในที่ประชุม ว่า ตนไม่ทราบว่าปัญหาก่อนหน้านี้เกิดจากอะไร แต่เมื่อตนมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และพบว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของชาติ ยืนยันว่าจะทำให้ปัญหาลดลง อย่างไรก็ตาม 1 ในแผนงานที่ประชุมมีความคิดเห็นร่วมกัน คือการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกาะสมุยเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจ และอยู่อาศัยบนเกาะสมุย หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่น ให้เขาสามารถเข้าอยู่และทำธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และปฏิบัติตามกฎหมายไทยหรือให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด

พ.ต.ท.เฉลิมศักดิ์ อักษรเพียร พนักงานสืบสวน กอ.รมน. ภาค 4 ระบุถึงความคืบหน้าที่การสืบสวนข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล ของนางแคทเธอรีน แหม่มนักธุรกิจชาวฝรั่งเศส ที่ก่อเหตุฆ่าตัวตายแล้วมอบมรดกมูลค่า 100 ล้านบาทให้แม่บ้านคนสนิท จนเป็นที่มาของการเข้าตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ว่า จากการเข้าสอบปากคำเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทำให้คณะพนักงานสืบสวนได้หลักฐานการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล, สารบบการก่อตั้ง, ผู้เริ่มก่อการ ซึ่งพบว่าบริษัทนิติบุคคลของนางแคทเธอรีน มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้ถือหุ้นสลับไปมาหลายครั้ง จนมาถึงสถานะปัจจุบัน แต่เป็นการสับเปลี่ยนในกลุ่มบุคคลเดียวกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติการณ์ของตัวแทนอำพราง

พนักงานสืบสวน กอ.รมน. ภาค 4 เปิดเผยต่อว่า บุคคลเหล่านี้จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว ฐานสนับสนุนช่วยเหลือบุคคลต่างด้าว เพื่อหลีกเลี่ยงการอนุญาตประกอบธุรกิจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วนนั่นเสีย หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ต้องถูกปรับวันละ 10,000-50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบบริษัทนิติบุคคล ที่มีชาวต่างชาติมีหุ้นส่วน และเป็นกรรมการมีอำนาจลงนามบนเกาะสมุย พบว่าปัจจุบันมีมากถึง 9,000 แห่ง จากบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนทั้งหมดของ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 17,000 แห่ง โดยชุดทำงานตรวจสอบของ กอ.รมน.ภาค 4 จะใช้ พ.ร.บ.ควบคุมสิ่งแวดล้อม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเข้าตรวจสอบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.