สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ว่า น.ส.ฟรานเซส เฮาเกน นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วัย 37 ปี ซึ่งเป็นอดีตพนักงานของเฟซบุ๊ก เข้าพบคณะกรรมาธิการย่อยด้านการพาณิชย์ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภาสหรัฐ เมื่อวันอังคาร หลังเธอ "ทิ้งระเบิดลูกใหญ่" ใส่อดีตนายจ้าง ในรายการ "60 นาที" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ฟรานเซส เฮาเกน กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการย่อยด้านการพาณิชย์ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภาสหรัฐ
ทั้งนี้ คำกล่าวส่วนใหญ่ของเฮาเกนเป็นการขยายความจากที่เธอให้สัมภาษณ์ในรายการ โดยในประเด็นของอินสตาแกรม เฮาเกนกล่าวว่า เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบเชิงลบอย่างมาก ต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ที่เป็นเด็กสาว เนื่องจากส่งผลให้เกิดความรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเฟซบุ๊กมีการวิจัยอย่างละเอียดในเรื่องนี้ เท่ากับว่าทราบถึงปัญหาดังกล่าวดี "แต่ไม่ทำอะไร" พร้อมทั้งแสดง "หลักฐานแข็ง" เป็นเอกสารหลายพันหน้า ที่เฮาเกนยอมรับว่า เธอใช้เวลานานพอสมควร แอบถ่ายสำเนาเก็บไว้ ก่อนลาออกจากเฟซบุ๊ก หลังทำงานมานาน 2 ปี
ขณะเดียวกัน เฮาเกนกล่าวถึงการที่เฟซบุ๊ก "เล่นกับความคิดและการรับรู้" ของผู้ใช้ จึงออกแบบการมอบข้อมูลข่าวสารบนหน้าฟีดหลักของผู้ใช้งานแต่ละคน "ให้เกิดการเสพติดมากที่สุด" โดยเฉพาะในเรื่องทางการเมือง และประเด็นทางสังคมที่สามารถ "แบ่งฝ่ายและสร้างความแตกแยก" เนื่องจากช่วยให้เพิ่มรายได้จากการโฆษณาให้แก่เฟซบุ๊ก และยังกล่าวถึง "ความไม่จริงจังและไม่จริงใจ" ของบริษัท ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ที่มีการพูดถึงมานานแล้วภายในบริษัท แต่เมื่อภายนอกตั้งคำถาม เฟซบุ๊ก "สร้างภาพลักษณ์ตรงกันข้าม" ที่แท้จริงแล้วเป็นการหลอกลวงสังคม 
แม้เฮาเกนกล่าวว่า เฟซบุ๊ก "มีศักยภาพ" ในการพัฒนาคุณภาพของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่บรรดาผู้บริหาร "ทำตัวเป็นองค์กรมืด" และกล่าวโดยตรงถึงนายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) คนปัจจุบัน "ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน" และเรียกร้องซัคเคอร์เบิร์กให้ "รับผิดชอบ"
ขณะที่นายแอนดี สโตน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า เฮาเกนไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ตัวเองกำลังพูด แต่ยอมรับว่า "ถึงเวลาแล้ว" ที่ต้องมีการกำหนดมาตรฐานบนอินเทอร์เน็ต.

เครดิตภาพ : AP