ทำให้ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” เร่งเดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย สู่การผลิตที่ยั่งยืน รองรับเทรนด์โลก ที่สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมมากขึ้น และหนีมาตรการกีดกันทางการค้า ที่เพิ่มมากขึ้น และเข้มงวดมากขึ้น

“ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น นายภูสิต ขยายความว่า เป็นสินค้าจากผู้ผลิตที่แสดงถึงมาตรฐานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการการผลิต, สินค้า Eco Products ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ก่อขยะหรือมลพิษ ส่วนใดส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์หรือทั้งหมดนำกลับมาใช้ใหม่ได้, สินค้ากลุ่ม Fast-moving consumer goods ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เข้าถึงง่ายและเห็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดดูดน้ำ ก้านสำลีจากวัสดุย่อยสลายได้ อาหารและเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ กระแสความนิยมยังมาจากการที่ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ มีการขายมากขึ้น อีกทั้งประเทศ
ต่าง ๆ กำหนดนโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำกับดูแลการผลิต แปรรูป ติดฉลาก รับรอง และการค้าสินค้าที่ยั่งยืน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยปรับปรุงกระบวนการการผลิตสู่ความยั่งยืน

ดังนั้น กรมจึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้ เพื่อทำให้การส่งออกสินค้าไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกกีดกันทางการค้า จนเกิดอุปสรรคต่อการส่งออก

แต่ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสู่การผลิตที่ยั่งยืนนั้น ยังมีปัญหา 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย  1.องค์ความรู้ โดยเฉพาะรายกลางและเล็กที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขาดนวัตกรรมและเทคโน โลยี เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่โมเดล BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)

นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ไม่ทัน และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับตัวรองรับกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่มีเพิ่มขึ้นทั่วโลก และเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น

Frame of ecology products

2. การพัฒนาสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง BCG  โดยผู้ประกอบการยังขาดระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ (PCRs) ซึ่งต้องใช้ในการขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รวมถึงขาดเงินทุน ในการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในการผลิต

และ 3. ช่องทางตลาด โดยสินค้าไทยยังขาดการสร้างเรื่องราวของสินค้าว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG อย่างไร ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร ขาดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ และความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานไม่ราบรื่น และขาดความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือและร่วมทุน  ผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

นายภูสิต กล่าวว่า กรมได้ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวไป โดยเร่งพัฒนาองค์ความรู้ เช่น มีหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์กว่า 100 หลักสูตรในแต่ละปี และมีโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน (BCG to Carbon Neutrality), โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ที่เน้นออกแบบหมุนเวียน การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืน (SDGs).