สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ว่า นักวิจัยของมหาวิทยาลัยลอนดอน (ยูซีแอล) เปิดเผยผลการค้นคว้าจากการศึกษาด้านประสาทวิทยาว่า ภัยจากความร้อนจัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีอิทธิพลต่อโรคทางระบบประสาท และโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต อาทิ โรคสมองเสื่อม, โรคลมชัก และภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีอาการที่เลวร้ายลง มากไปกว่านั้น ยังเพิ่มความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล, ความพิการ และการเสียชีวิตอีกด้วย

นักวิจัยจำนวนมาก ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในโรคติดต่อและโรคทางเดินหายใจ พบว่า อากาศร้อนส่งผลเสียต่อสุขภาพของระบบประสาท ซึ่งทำให้กระบวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่สำคัญในสภาวะต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากความร้อนจัด

“เพื่อให้มันทำงานได้อย่างถูกต้อง สมองจะต้องอยู่ในอุณหภูมิที่ค่อนข้างแคบ” ศ.ซานเจย์ สิโสดียา จากสถาบันประสาทวิทยาควีนสแควร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยครั้งนี้ ระบุ “ถ้าสมองมีโรค ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิจะลดลง หากคุณนำผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทมาสัมผัสคลื่นความร้อนที่ไม่ปกติ คุณจะเห็นว่า อาการของโรคทางระบบประสาทของเขาแย่ลง เพราะความร้อน”

ศ.สิโสดียา ระบุเพิ่มเติมว่า ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อค้นหาปัจจัยที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางระบบประสาทและอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่อปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเลวร้ายลง และกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น การจำแนกกลุ่มเสี่ยงจึงมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรซึ่งอายุน้อยที่สุด, แก่ที่สุด และกลุ่มเปราะบางมากที่สุด

สำหรับการศึกษาครั้งใหม่นี้ นักวิจัยได้ตรวจสอบรายงาน 332 ฉบับ เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสภาวะทางระบบประสาท 19 โรค ซึ่งมีภาระโรคสูงสุด ได้แก่ อัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมในรูปแบบอื่น ๆ, ไมเกรน, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ นอกจากนี้ ยังรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล และโรคจิตเภท เนื่องจากความผิดปกติทางจิตเวช มักเกิดร่วมกับโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ

การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศส่งผลกระทบต่อโรคในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ความเกี่ยวข้องกับความชุกของโรคที่สูงขึ้น และอาการเจ็บป่วยที่แย่ลง ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ พยายามปรับตัวในช่วงอากาศร้อนจัดด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การขอความช่วยเหลือ, การสวมเสื้อผ้าที่เบาบาง และการดื่มน้ำมากขึ้น

นอกจากนั้น สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ยังมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง ที่อันตรายถึงชีวิตและอาจทำให้พิการ และอาจส่งผลต่อโรคลมชัก ซึ่งอาการอาจแย่ลงหากมีการอดนอนร่วมด้วย เนื่องจากอุณหภูมิสูงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นผลกระทบหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถส่งผลต่อการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังระบุว่า ความเย็นจัดก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

นอกจากนั้น อัตราการอุบัติของจำนวนผู้ที่มีความผิดปกติด้านสุขภาพจิต รวมทั้งในจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เชื่อมโยงกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น รายงานฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราผู้เรียกร้องเอาประกันสุขภาพ หลังเข้ารับการตรวจในห้องฉุกเฉินจากอาการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต ระหว่างปี 2553 ถึงปี 2562 ในสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากในวันที่มีอากาศร้อนจัด

มากไปกว่านั้น สภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น พายุและไฟป่า สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวล, ความเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ, โรคซึมเศร้า และความคิดฆ่าตัวตาย

ดร.เบอร์ซิน อิกิซ นักประสาทวิทยา ผู้ศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อสมอง ระบุว่า ผลกระทบต่อสมองซึ่งเกิดจากสภาพอากาศที่อุ่นอาจไม่สามารถตรวจพบได้ จนกว่าจะผ่านการวินิจฉัยเป็นเวลานาน เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้น สมองของเราจะตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ และภาวะเสื่อมในรูปแบบอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการรับรู้

“สิ่งที่ทำให้ฉันกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับกรณีนี้คือ ภายในปี 2593 เราไม่เพียงแต่จะเห็นการปะทุของจำนวนผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทเท่านั้น แต่ความผิดปกติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 40 และ 50 ปี แทนที่จะเป็นช่วงอายุ 70 และ 80 ปี เพราะสมองของเราถูกโจมตีด้วยความเครียดที่แตกต่างกัน เช่น ความร้อน, มลพิษ และไมโครพลาสติก” ดร.อิกิซ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมการวิจัย และรับมือกับภัยคุกคาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสมอง ระบุ

ศ.สิโสดียา และ ดร.อิกิซ ได้เรียกร้องให้ทำการวิจัยเพิ่มเติม และแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้คนและระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจน

ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงจนทำลายสถิติครั้งใหม่ ทุกคนสามารถดำเนินการเพื่อยับยั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ “เราจำเป็นต้องหยุดการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ศ.สิโสดียา กล่าว

“นอกเหนือจากนั้น เราต้องตรวจสอบว่า ระบบแจ้งเตือนสภาพอากาศทำงานอย่างเหมาะสม, ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือ และทราบถึงมาตรการป้องกันที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง อาทิ การอยู่ให้ห่างจากแสงแดดในช่วงเวลาที่แสงแดดรุนแรงมากที่สุด, ปิดหน้าต่างหรือบานประตู, ทำให้ร่างกายเย็นและดื่มน้ำ และเตรียมยาให้เพียงพอ”.

เครดิตภาพ : AFP