เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่รัฐสภา นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 แถลงว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชป. ที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกนั้น เป็นการเสนอแบบกว้างว่าด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะ กมธ. จึงอยากเชิญชวนสมาชิก และ กมธ. ช่วยกันแปรญัตติเพื่อให้ร่างดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งหลายพรรคการเมืองได้แปรญัตติเข้ามา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ปชป. ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา มาตรา 83 โดยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้วิธีบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละหนึ่งใบ รวมทั้งขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 3/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ 60 และให้ใช้ข้อความนี้แทน คือ ให้ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด และมีผลคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 3/2 คือ ยกเลิกความในมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ 60 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน คือ มาตรา 86 การกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ดำเนินการตามวิธี ดังนี้ 1.ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน 2.จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (1) ให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 3.จังหวัดใดมีราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มี ส.ส.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน 4.เมื่อได้จำนวนส.ส. ของแต่ละจังหวัดตาม (2) และ (3) แล้ว ถ้าจำนวน ส.ส.ยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่ม ส.ส. ตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคำนวณนั้นในลำดับรองลงมาตามลำดับจนครบจำนวนสี่ร้อยคน และ 5.จังหวัดใดมีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงโดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังขอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ 60 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน มีสาระสำคัญกำหนดให้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีนั้นได้รับเลือกตั้ง และมิให้นำคะแนนเสียงดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อหาสัดส่วนจำนวน ส.ส. รวมทั้งขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 4/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 92 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน คือ เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้น ให้จัดให้มีการเลือกตังใหม่ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่
นายชินวรณ์ กล่าวต่อด้วยว่า ตลอดจนยังขอแปรญัตติมาตรา 4/2 ให้ยกเลิกมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ 60 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน ในการเลือกตั้งทั่วไป ต้องมีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อใหม่ในบางเขตหรือ บางหน่วยเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีการประกาศผลเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเหตุใด การคำนวนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับให้เป็นไปตามเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในกรณีที่ผลการคำนวณตามวรรคหนึ่งทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองใดลดลง ให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในลำดับท้ายตามลำดับพ้นจากตำแหน่ง สุดท้าย ขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 4/3 ให้ยกเลิกมาตรา 94 ภายในอายุของสภาผู้แทนราษฎรหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมให้นำความตามมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีเวลาเหลือไม่ถึง 180 วัน มิให้มีผลกระทบกับการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับตามมาตรา 91
เมื่อถามว่า กรณีพรรคก้าวไกลระบุว่าร่างของพรรค ปชป. เสนอเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค นายชินวรณ์กล่าวว่า พรรค ปชป. ไม่ได้คิดเช่นนั้น และไม่ได้คิดแม้แต่จะเป็นประโยชน์กับพรรค ปชป. เอง แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเราก็ยอมรับ และเปลี่ยนวิธีการแก้ไขโดยเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพิจารณาว่ามีประเด็นใดสำคัญบ้าง ซึ่งการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เราต้องเน้นว่าเป็นระบบที่ประชาชนคุ้นเคยเข้าใจได้อย่างดี ต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และระบบการเลือกตั้งต้องนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
เมื่อถามอีกว่า พรรคก้าวไกลระบุว่าการปรับแก้ไขมาตราอื่นนอกเหนือจากที่รัฐสภารับหลักการ เป็นการแก้ไขเกินหลักการ นายชินวรณ์ กล่าวว่า พรรค ปชป. มั่นใจว่าเป็นการเสนอร่างหลักการอย่างกว้าง สมาชิกรัฐสภา และ กมธ. จึงสามารถแปรญัตติได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา ข้อที่ 124 ที่บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักการนั้นสามารถแก้ไขได้ ประกอบกับคำวินิจฉัยฝ่ายกฎหมายรัฐสภา และกฤษฎีกา ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการสามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ตัวเลขมาตราไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อเราเสนอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เราก็ต้องไปแก้ไขมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ 60 ในมาตราที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาความเห็นพ้องกันมากที่สุดก่อน แต่หากใครไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของท่านนั้นๆ เพราะหลังจากร่างแล้วเสร็จ หากใครเห็นว่าร่างนั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ ก็สามารยื่นให้ศาลตีความได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่วันนี้ยังเชื่อมั่นว่าเดินหน้าได้.