ปัญหาการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 8 โครงการใหญ่พัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ป้องกันน้ำท่วม ในงบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เกิดปัญหา 2 หจก. ก่อสร้างไม่เสร็จ และไม่ก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในจุดก่อสร้างหวาดผวาจะเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แม้ว่า นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง จะประกาศยกเลิกสัญญาไปแล้ว 2 โครงการ และจะทยอยยกเลิกสัญญาทั้งหมด 8 โครงการ ก็ยังไม่ทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างสบายใจ เพราะยังไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร ยังคงออกมาเรียกร้องและให้ สำนักงาน ป.ป.ช.- สตง.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสอบสวนก่อนที่จะทำให้งบประมาณแผ่นดินเสียหายไปมากกว่านี้

ไม่ทนพ่อเมือง! ชาวกาฬสินธุ์วอน ‘ปลัดเก่ง’ สางปัญหา ‘8โครงการ7ชั่วโคตร’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ส่งเอกสารการยกเลิกสัญญาทางไลน์ ที่ลงนามโดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ล้มสัญญาการก่อสร้างตามโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่ก่อสร้างไม่เสร็จ ผู้รับจ้างทิ้งงาน จนถูกชาวกาฬสินธุ์ประณามว่า “โครงการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” การยกเลิกสัญญาครั้งนี้ เอกสารถูกส่งมา 3 หน้ากระดาษ มีการยกเลิกในคราวเดียว 6 โครงการ คงเหลืออีก 2 โครงการฯ

โดยเอกสารฉบับแรก ที่ มท.0703.4/7768 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ได้ยกเลิก 2 โครงการ รายละเอียดดังนี้

ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ประชาพัฒน์ ทำงานก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 87/2562 ลงวันที่ 4 เมษายน 2562 และว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงนำกิจ ทำงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ไปทางทิศเหนือ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 937 เมตร ตามสัญญาจ้างเลขที่ 250/2564 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เนื่องจากผู้รับจ้างมีผลงานก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าแผนงานมาก ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีหนังสือเร่งรัด การดำเนินงานตามสัญญาจ้างอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รับจ้างยังคงก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อนความเสียหายต่อประชาชนเป็นอันมาก เป็นเหตุอันเชื่อได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประชาพัฒน์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงนำกิจ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น

ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างเลขที่ 87/2562 ลงวันที่ 4 เมษายน 2562 และสัญญาจ้างเลขที่ 250/2564 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ดังกล่าวข้างต้น และสัญญาแก้ไขทุกฉบับ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 103 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 108 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว1459 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ข้อ 5.2.3 และเงื่อนไขของสัญญา ข้อ 6 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้บอกเลิกสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จะดำเนินการเร่งรัดจัดจ้างหาผู้รับจ้างรายใหม่ เข้าดำเนินการต่อไป โดยในส่วนโครงการอื่นๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่าง การพิจารณาตามระเบียบโดยเคร่งครัด

ส่วนฉบับที่สอง ที่ 0703.4/7866 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ได้ยกเลิก 4 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้ ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ประชาพัฒน์ ทำงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ จากสะพาน ค.ส.ล. ไปทางทิศใต้ฝั่งใต้ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร ในวงเงินค่าก่อสร้าง 108,800,000 บาท (หนึ่งร้อยแปดล้านแปดแสนบาทถ้วน) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 298/2562 ลงวันที่ 5 กันยายน 2562 และว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงนำกิจ ทำงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี หมู่ 13 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 423 เมตร ในวงเงิน ค่าก่อสร้าง 59,306,000 บาท (ห้าสิบเก้าล้านสามแสนหกพันบาทถ้วน) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 204/2563 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563, งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำซีศรีวนาราม หมู่ 5 ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 385 เมตร ตามสัญญาจ้างเลขที่ 205/2563 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 และงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน หลังเทศบาลตำบลลำพาน บ้านวังยูง หมู่ 5 อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 526 เมตร ในวงเงินค่าก่อสร้าง 44,490,000 บาท (สี่สิบสี่ล้านสี่แสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 275/2564 ลงวันที่ 8 กันยายน 2564 จำนวนรวมทั้งหมด 4 โครงการ เนื่องจากผู้รับจ้างมีผลงานก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าแผนงานมาก ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินงานตามสัญญาจ้างอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้รับจ้างยังคงก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนงาน ส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อนความเสียหายต่อประชาชนเป็นอันมาก เป็นเหตุอันเชื่อได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประชาพัฒน์ และห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮงนำกิจ ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ นั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างเลขที่ 298/2562 ลงวันที่ 5 กันยายน 2562 สัญญาจ้างเลขที่ 204/2563 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 สัญญาจ้างเลขที่ 205 /2563 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2563 และสัญญาจ้างเลขที่ 275/2564 ลงวันที่ 8 กันยายน 2564 ดังกล่าวข้างต้น และสัญญาแก้ไขทุกฉบับ ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 103 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 108 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 04052/ว 1459 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ข้อ 5.2.3 และข้อ 5.2.4 และเงื่อนไขของสัญญา ข้อ 6 โดยกรมโยธาธิการ และผังเมืองได้บอกเลิกสัญญาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จะดำเนินการเร่งรัดจัดจ้างหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้าดำเนินการต่อไป โดยในส่วนโครงการอื่นๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการพิจารณาตามระเบียบโดยเคร่งครัด

รายงานแจ้งว่า ในส่วนโครงการที่ยังไม่ได้ยกเลิกที่เหลือ 2 โครงการประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านหนองหวาย-บ้านหนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบประมาณ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 3 ครั้ง จำนนวน 20,169,000 บาท คงเหลือ 17,285,000 บาท 2.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ความยาว 583 เมตร งบประมาณ 39,540,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เบิกจ่าย 2 ครั้ง จำนวน 11,099,000 บาท คงเหลือ 28,441,000 บาท เพราะยังไม่หมดสัญญา ส่วนการยกเลิกสัญญา ทางกรมโยธาฯมีมาตรการที่สำคัญ คือการขึ้นแบล็กลิสต์ กับ หจก.ที่ทำงานล่าช้า และเกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชน เมื่อถูกยกเลิก จะถูกเวียนชื่อว่าเป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน กรณี 2 รายนี้ ห้ามไปประมูลงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองอีก ซึ่ง 2 หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ ที่ถูกยกเลิกสัญญา จะไม่สามารถนำ หจก. ไปรับงานจากหน่วยงานอื่นได้อีก

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนขอขอบคุณ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ได้ทำการยกเลิกสัญญาและได้ส่งเอกสารการยกเลิกสัญญาเป็นรายลักษณ์อักษร ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมีความมั่นใจในระบบราชการมากยิ่งขึ้นในการที่จะผดุงความโปร่งใส ยุติธรรมรักษาเงินภาษีอากรของประชาชนคนไทย ที่จะเป็นการปิดช่องทางไม่ให้ 2 หจก. ไปประมูลงานและไปสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานราชการอื่นได้อื่น แต่สิ่งที่ต้องการต่อกระบวนการเอาผิดกับผู้รับเหมาก็คือการเรียกร้องค่าเสียหายจากงานที่ทิ้งไป เพราะโอกาสที่กรมโยธาฯ มอบให้ผู้รับจ้างเป็นสิทธิที่ควรได้จากมาตรการณ์ ว.1459 แต่กลับมาทิ้งงานที่ยังกระทบทำให้ผลงานที่ควรดีเมื่อค้างคาระหว่างการก่อสร้างก็จะทำให้เสื่อมคุณภาพ จึงขอให้พิจารณาในเรื่องของค่าเสียหายเป็นค่าปรับ นอกจากนี้เพื่อความยุติธรรต่อกลุ่มแรงงานที่เข้ามารับจ้างแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างก็ขอให้ กรมโยธาธิการฯ หากแนวทางช่วยเหลือตามที่ได้รับปากเอาไว้ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านา เนื่องจากกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานถูกเบี้ยงค่าแรง ค่าวัสดุบางรายเสียหายเกือบ 10 ล้านบาท เสมือนทำให้ครอบครัวแรงงานล้มละลายจึงขอให้พิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

“ส่วนการที่จะมีผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ หวังว่าคงไม่ใช่เครือข่ายขาใหญ่ หรือจะเป็นนอมินีที่อยู่ในเครือข่ายผู้ทิ้งงาน ก็ขอให้ออกประกาศประชาชนชาวกาฬสินธุ์ได้รับทราบโดยทั่วกันว่า หจก.ที่จะเข้ามาทำงานใหม่เป็นใคร มาจากไหน มีความมั่นคงทางการเงินจริงหรือไม่สามารถตรวจสอบได้ และควรที่จะขึ้นป้ายการเริ่มทำงานอย่างชัดเจน รวมถึงก่อนที่จะลงมือทำงานก็ควรที่จะแจ้งต่อชุมชน หมู่บ้านในรูปแบบประชาพิจารณ์ กับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบ เพื่อชาวบ้านจะได้เตรียมตัวเข้าสู่โหมดการก่อสร้างใหม่อีกครั้ง ในส่วนอีก 2 โครงการที่เหลือ เครือข่ายภาคประชาสังคม ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบก็จะติดตามต่อไป” นายชาญยุทธ กล่าวในที่สุด

สำหรับปัญหานี้ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบยังคงเรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย เร่งหามาตรการในการติดตามปัญหาให้กับทางจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไปได้ควรกำหนดแผนการเข้าดูแลในเรื่องความสะอาดของชุมชน รวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ถูกประณามว่า “โครงการ 7 ชั่วโคตร” นี้