ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ กริชสกุลช่างสงขลา: การสร้างคุณค่าและการจัดการทุนวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน สนับสนุนโดยกองทุน ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับสถานกงสุลอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา, National Chengchi University สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), Indonesian Institute of the Arts Surakarta ประเทศอินโดนีเซีย และ Museum Kris Nusantara ประเทศอินโดนีเซีย จัดงานสัมมนานานาชาติด้านวัฒนธรรมกริช “The International Symposium on Kris Culture” ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา จังหวัดสงขลา

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวในงานสัมมนาว่า “กริชไม่ได้เป็นเพียงอาวุธ แต่คือวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ ภูมิปัญญา และอัตลักษณ์ของผู้คน ชุมชน และพื้นที่” ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมกริชร่วมกันระหว่างไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณกับ Indonesian Institute of the Arts Surakarta และ The Municipal Government of Solo และจัดแสดงนิทรรศการกริชอันทรงคุณค่า ซึ่งประเมินราคามิได้ จำนวนกว่า 50 เล่ม จากประเทศอินโดนีเซีย และไทย ในความเป็นศาสตราวุธ “กริช” ยังสะท้อนมิติต่างๆ ทั้งวิธีคิด ชีวิต ความเชื่อ ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของและวงศ์ตระกูล รวมไปถึงความเชื่อในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นอาวุธของเทพยดา กริชจึงเป็นทั้งศาสตราวุธ และศาสตราภรณ์ ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมในครั้งนี้ จะมี “กริช” เป็นดั่งสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งจะช่วยเร่งปลุกพลังและพลานุภาพของทุนวัฒนธรรม “กริชสกุลช่างสงขลา” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ทางวัฒนธรรมภาคใต้ การอนุรักษ์และพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกริชที่มีคุณค่าในประเทศ ซึ่งถือเป็นฐานทุนที่สำคัญและแสดงถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์