“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้คณะกรรมการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา (งานโยธา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร (กม.) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ และผลงานของ 4 บริษัทที่ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประมูลโครงการ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยเฉพาะการตรวจสอบในส่วนของผลงานที่เอกชนนำเสนอมา

ผลงานการก่อสร้างต่างๆ ที่เอกชนนำเสนอมานั้น จะต้องนำไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่ว่าจ้างให้เอกชนดำเนินงานก่อสร้างผลงานที่นำมาเสนอด้วย โดยหน่วยงานต้องเป็นผู้ยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทนั้นได้ทำผลงานดังกล่าวจริง อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบในทุกประเด็นแล้วเสร็จ จะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. พิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ชนะการประมูลโครงการฯ ได้ประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 67

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลนั้น คงต้องรอให้ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตเวนคืนที่ดิน เพื่อใช้ดำเนินโครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายก่อน ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หากเห็นชอบจะเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการทั้ง 2 เรื่อง น่าจะแล้วเสร็จใกล้เคียงกัน โดยในส่วนของการประกาศผลผู้ชนะประมูลอาจจะแล้วเสร็จเร็วก่อนเล็กน้อย

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย กทพ. จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้พื้นที่เวนคืนลอตแรกจำนวนมากพอ ประมาณ 30-40% ก่อนส่งมอบให้ผู้รับจ้างเข้าไปเริ่มทำงานก่อสร้างได้เพราะหากยังเวนคืนได้พื้นที่ไม่มากพอ ผู้รับจ้างจะไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา วงเงินรวม 24,060 ล้านบาท ใช้พื้นที่เวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา มีอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง ซึ่งจะขอรับการอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 3,726 ล้านบาทจากรัฐบาลส่วนค่าก่อสร้าง และควบคุมงาน และงานระบบ รวมประมาณ 20,334 ล้านบาท จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,960 ล้านบาท จะใช้เงินกู้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เบื้องต้น กทพ. คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ประมาณไตรมาสที่ 1 ปี 68 (ม.ค.-มี.ค. 68) ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือประมาณ 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดบริการประมาณปลายปี 70 โดยทางด่วนสายนี้เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันอออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จ.ปทุมธานี ค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ 3.2 หมื่นคันต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การยื่นข้อเสนอเข้าร่วมประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ด่วน) ฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา (งานโยธา) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ราคากลางของงานจ้างก่อสร้างวงเงิน 18,739,554,167.44 บาท มีกำหนดให้ยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 เบื้องต้นพบว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องรอดูผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และผลงานต่างๆ ด้วย หากไม่มีปัญหา และผิดเงื่อนไขใด คาดว่าจะเป็นผู้ชนะการประมูล.