นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากทั้งน้ำมันและแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ประชุมจึงมีมติดูแลราคาน้ำมันที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งน้ำมันพื้นฐานบี10 และน้ำมันบี7 ที่มีรถยนต์ที่ใช้อยู่ประมาณ 10 ล้านคัน โดยจะดำเนินการ 3 ส่วนคือ 1.ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี10 และบี7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ 1.40 บาท มีผลวันที่ 5 ตุลาคม-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งปัจจุบันถูกกว่า 1.80 บาทต่อลิตรอยู่แล้ว
2.ลดการจัดเก็บเงิน บี7 เข้ากองทุนจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 11 ตุลาคม-31 ตุลาคม 2564 และ 3.ลดการผสมไบโอดีเซล จากบี10 และบี7 เหลือบี6 มีผลวันที่ 11 ตุลาคม-31 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้จากมติดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม จะเหลือน้ำมันดีเซลชนิดเดียว คือ บี6 คืออยู่ที่ระดับ 28.29 บาทต่อยาวถึง 31 ตุลาคมนี้ ใช้เงินอุดหนุนส่วนนี้เดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นจะมีเงินกองทุนน้ำมันบัญชีน้ำมันดูแล 1.1 หมื่นล้านบาท
ส่วนการพิจารณาก๊าซหุงต้ม (LPG ภาคครัวเรือน) ที่ประชุมเห็นว่าสถานะกองทุนนำ้มันเชื้อเพลิงที่เข้าไปช่วยเหลือก๊าซหุงต้มขณะนี้อยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ใกล้เต็มกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ 1.8 หมื่นล้านบาท จึงเห็นควรเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทมาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2565 เพื่อตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง)
ส่วนวงเงินที่จะขอใช้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดผลกระทบจากโควิด-19 ปัจจุบันมีการใช้เงินเข้าไปตรึงราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 1,400 ล้านบาท
“ขอให้เข้าใจรัฐบาลดูแลช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการจัดเตรียมเงินตรึงราคาก๊าซหุงต้ม จะเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท แต่จะใช้เงินเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาแแอลพีจีที่ขึ้นลงด้วย ซึ่งปัจจุบันก็ใช้อยู่ 1,400 ล้านบาท/เดือน”