เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 67 ที่ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอนุชา อินทศร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการศูนย์ภารกิจเป็นเลิศ ด้านมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ประปาเทศบาลนครนครราชสีมา เจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันตรวจสอบอาคารบ้านพักเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอาคารบ้านพักของรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (หลังเก่า) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามจวนฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงอาคารทั้ง 2 หลัง ให้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจากต่างจังหวัด ที่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ด้วยวิธีการฉายแสง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านที่พักให้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว

นายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า จากการที่ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา พบว่าผู้ป่วยจากต่างจังหวัดที่เดินทางมารักษาตัวด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลมหาราชฯ มีความยากลำบากในเรื่องที่พักอาศัยเพื่อรอการรักษา จึงได้ตัดสินใจเปิดอาคารบ้านพักภายในจวนผู้ว่าฯและบ้านพักของรองผู้ว่าฯที่ไม่ได้ใช้งาน ให้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจากต่างจังหวัดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับไป-กลับ ระหว่างบ้านและโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง จึงได้ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ประปาเทศบาลนครฯ เข้ามาตรวจสอบสภาพอาคารบ้านพักทั้ง 2 หลัง เพื่อปรับปรุงใช้ประโยชน์ เป็นที่พักคอยรอการรักษาของผู้ป่วย

นายแพทย์สายลักษณ์ พิมพ์เกาะ รองผู้อำนวยการศูนย์ภารกิจเป็นเลิศ ด้านมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า อาคารบ้านพักทั้ง 2 หลังถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยและต่อโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉายแสงรักษาโรคมะเร็งนั้นการฉายแสงจะใช้เวลาไม่นาน เพียงครั้ง 10-15 นาทีต่อวัน แต่ต้องฉายแสงติดต่อกันเป็นเวลา 10-15 วัน บางรายต้องฉายแสงติดต่อกันเป็นระยะเวลา กว่า 1 เดือน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ จะให้มานอนพักคอยที่โรงพยาบาลปะปนกับผู้ป่วยรายอื่น ที่มีอาการหนัก อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อจากผู้ป่วยรายอื่น ได้ ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาล

นพ.สายลักษณ์ กล่าวต่อว่า โดยผู้ป่วยที่เดินทางมาฉายแสงที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีทั้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ เดือนละไม่ต่ำกว่า 500 คน เป็นผู้ป่วยในจังหวัดนครราชสีมา ประมาณ 200 คน และจากต่างจังหวัดประมาณ 300 คน ผู้ป่วยจากต่างจังหวัดจึงมีความยากลำบากในเรื่องของค่าใช้จ่ายการเดินทางและเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องที่พัก

“ดังนั้นที่พักคอยสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีฉายแสงถือเป็นเรื่องสำคัญ นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะทำให้ผู้ป่วยจากพื้นที่ห่างไกลจะได้มีที่พักรอรักษา มีที่พักปลอดภัย ปลอดเชื้อ และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย” นพ.สายลักษณ์ กล่าว