“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า โครงการก่อสร้างสะพานบนทางหลวงชนบทสาย รย.4060 พื้นที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ระยะทาง 1.050 กม. งบประมาณ 587.516 ล้านบาท ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ผลงาน 36.35% จากแผนงาน 38.78% ช้ากว่าแผน 2.44% โดยวางตอม่อเสร็จ 100% อยู่ระหว่างติดตั้งคานขวาง คาดแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ จากนั้นเดือน มิ.ย. 67 จะเริ่มติดตั้งพื้นสะพานให้แล้วเสร็จช่วงเดือน พ.ย. 67 ก่อนติดตั้งราวสะพาน กำแพงคอนกรีต (แบริเออร์) แบ่งทิศทางจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และไฟฟ้าส่องสว่าง คาดแล้วเสร็จบูรณ์ พ.ค. 68 มีแผนเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนสัญญา 1 เดือน เตรียมเปิดให้สัญจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 68 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงวันหยุดยาว และแก้ไขปัญหาการจราจร คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางจำนวนมาก

การก่อสร้างสะพานผสมผสานระหว่างโครงสร้างเหล็กและคอนกรีต ด้านบนเป็นโครงสร้างเหล็กป้องกันการกัดกร่อนด้านล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มี 2 จุด จุดแรกอยู่บริเวณ กม.4+525-กม. 5+155 ความยาว 630 เมตร พื้นที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และจุดที่ 2 บริเวณ กม.9+517.25-กม.9+937.25 พื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ความยาวสะพาน 420 เมตร กว้าง 11 เมตรเท่ากัน ขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีที่จอดรถบนสะพานความยาวด้านละ 30 เมตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้สนใจได้ชมสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณสะพานเพื่อศึกษาระบบนิเวศและพฤติกรรมช้างป่าด้วย

โครงการมีกิจการร่วมค้า ยูเอ็นเอ (บจก.อสิตากิจ และ บมช. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) เป็นผู้รับจ้างเริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 ธ.ค. 65 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 18 พ.ค. 68 ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน เพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จากเดิมที่มีถนนคั่นกลางมาเป็นสะพานให้รถยนต์สัญจร รวมทั้งรื้อถนนเดิมบางส่วนให้สัตว์ป่าเดินลอดใต้สะพานอย่างสะดวกปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืช ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า โครงการนี้นับเป็นทางเชื่อมผืนป่าแห่งแรกของ ทช. แต่เป็นทางเชื่อมผืนป่าแห่งที่สองของประเทศไทย โดย ทช. ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สำหรับทางเชื่อมผืนป่าแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีรูปแบบทั้งอุโมงค์และสะพาน กรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างเป็นแห่งแรกบนทางหลวงสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย รวมการขยายถนนระยะทาง19 กม. งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท เชื่อมผืนป่าเขาใหญ่-ทับลาน เปิดใช้เมื่อปี 62