สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่า กระทรวงการต่างประเทศของเอธิโอเปียออกแถลงการณ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ประกาศรายชื่อชาวต่างชาติ 7 คน ล้วนดำรงตำแหน่งอาวุโสในหน่วยงานสังกัดสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) รวมถึง ผู้อำนวยการกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ( ยูนิเซฟ ) ประจำเอธิโอเปีย และผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ( โอซีเอชเอ ) ประจำเอธิโอเปีย มีสถานะ "บุคคลไม่พึงปรารถนา" และต้องเดินทางพ้นเอธิโอเปีย ภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้ เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า บุคคลทั้งเจ็ดมีพฤติการณ์ "ก้าวก่าย" การดำเนินนโยบายของรัฐบาลแอดดิสอาบาบา โดยไม่มีการขยายความ ต่อจากนั้นไม่นาน นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ยูเอ็นทุกคนในเอธิโอเปีย ปฏิบัติภารกิจบนพื้นฐานของความเป็นกลาง ปราศจากการฝักใฝ่ฝ่ายใด และมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเป็นหลัก 
อย่างไรก็ตาม การประกาศของรัฐบาลเอธิโอเปีย ที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในประเทศทรงอิทธิพลที่สุดในแอฟริกา เกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังยูเอ็นเรียกร้องการเปิดเส้นทางปลอดภัยสู่ภูมิภาคทิเกรย์ เพื่อให้มีการลำเลียงและส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนในพื้นที่ ซึ่งกำลังอดอยากเนื่องจากการสู้รบที่ยืดเยื้อตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ระหว่างกองทัพเอธิโอเปียกับแนวร่วมปลดปล่อยชาวทิเกรย์ ( ทีพีแอลเอฟ ) ที่ปกครองพื้นที่แห่งนี้มานานหลายทศวรรษ
ด้านนายกรัฐมนตรีอาบีย์ อาเหม็ด อาลี ผู้นำเอธิโอเปีย ยืนยัน ไม่เคยขัดขวางการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็น แต่ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลแอดดิสอาบาบาระงับการดำเนินงานในประเทศขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน ( เอ็มเอสเอฟ ) และสภาผู้ลี้ภัยแห่งนอร์เวย์ ( เอ็นอาร์ซี ) โดยกล่าวหาหน่วยงานทั้งสองแห่ง "สนับสนุนกบฏ".

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES