นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.59-1 ต.ค.64 รวมระยะเวลา 5 ปี 6 เดือน ที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.ขสมก. ในลำดับที่ 24 ตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การมาตั้งแต่ปี 2519 ตนได้สานต่อและรับนโยบายของผู้บริหารกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญของ ขสมก. อย่างแผนฟื้นฟู ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ เมื่อแล้วเสร็จนำเสนอคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ (บอร์ด) ขสมก. อนุมัติ ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคม และเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป  

แผนนี้มีเรื่องสำคัญ ได้แก่ เช่ารถโดยสาร (รถเมล์) 2,511 คัน จ้างเอกชนเดินรถ 1,500 คัน ซึ่งรถที่นำมาให้บริการคาดว่าเป็นรถเมล์ไฟฟ้า หรือรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ซึ่งรถใหม่นี้นำมาทดแทนรถเมล์ที่ให้บริการในปัจจุบันกว่า 2,800 คัน แบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) 1,500 คัน

นายสุระชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีอายุใช้งานกว่า 32 ปี และรถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) 1,300 คัน มีอายุใช้งานมากสุด 25-26 ปี ซึ่งมีสภาพที่เก่ามาก ดังนั้นเมื่อมีรถเมล์ใหม่ให้มาบริการจะทยอยปลดระวางรถเมล์เหล่านี้ โดยเฉพาะรถเมล์ร้อนต้องปลดระวางทั้งหมด เพราะอายุใช้งานมาก ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาค่อนข้างสูง ถ้าเทียบกับรถเมล์ใหม่ เมื่อปลดระวางแล้วจะมอบรถเหล่านี้ให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น มอบให้โรงเรียน หรือหน่วยงานท้องถิ่นนำไปใช้รับส่งบุคลากรหรือรับส่งนักเรียนภายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ได้  

นอกจากนี้ได้กำหนดอัตราค่าโดยสารอัตราเดียวราคา 30 บาท/คน/วัน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาให้บริการ เช่น ใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์บนรถเมล์ (E-Ticket System) ทำให้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการแล้ว ขสมก. จำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลง โดยดำเนินโครงการเกษียณก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) พนักงานที่มีทั้งหมด 13,000 คน ปรับลดเหลือ 8,000 คน ส่วนกว่า 5,000 กว่าคนต้องเออร์ลี่รีไทร์ ส่วนมากจะเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,000 คน และพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายตั๋วโดยสาร ฝ่ายการเงินเหรียญ และสายตรวจ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายองค์กร ซึ่งการลดจำนวนพนักงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีระบบอีทิคเก็ตมาใช้บริการสมบูรณ์แล้ว เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา  

นายสุระชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ช่วง 2 ปี (ในปี 63-64) ขสมก. ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้โดยสารลดลงจากปกติมีผู้โดยสารอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านคนต่อวัน ลดเหลือ 1-2 แสนคนต่อวัน นอกจากนี้ทำให้รายได้ลดลงด้วย ขสมก. จึงต้องปรับรูปแบบการเดินรถ ลดจำนวนรถและเที่ยววิ่งลง เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ใช้บริการและให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ขสมก. ได้ปฏิบัติตามาตรการสาธารณะสุขในป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ ให้พนักงาน ขสมก. ฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็มครบแล้วกว่า 95% ใช้น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในรถเมล์ การจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง และจัดเดินรถตามช่วงเวลาที่ต้องมีการล็อกดาวน์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร  

นอกจากนี้ได้ช่วยเหลือสังคมอย่างเนื่อง เช่น จัดรถชัตเติ้ลบัสให้บริการรับส่งประชาชนฟรีที่มาฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อเดือน มิ.ย.-ปัจจุบัน รวมทั้งจัดรถชัตเติ้สบัสเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในช่วงทดลองให้บริการ เมื่อเดือน ส.ค.-ปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นองค์กรคุณธรรมและความโปร่งใส จนในปี 64 ขสมก. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ได้คะแนนเรื่องนี้ถึง 95.26  

นายสุระชัย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ขอฝากถึง นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. คนใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในวันที่ 2 ต.ค.นี้ ขอให้สานต่อแผนฟื้นฟูองค์การให้ประสบความสำเร็จ เพราะช่วยยกคุณภาพการบริการ ขสมก. และประชาชนได้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะที่ดี สะดวก ประหยัดและปลอดภัย

“สำหรับการใช้ชีวิตหลังหมดวาระ ผอ.ขสมก. อันดับแรกขอพักก่อนสักระยะ หลังจากนั้นจะขอไปช่วยงานองค์กรเอกชนที่ความรู้ของเราจะสามารถช่วยเขาได้ ซึ่งการทำงานนี้จะเป็นการทำงานแบบไม่ประจำ หรือเป็นงานเบาๆ” นายสุระชัยกล่าว