วันนี้​ (30 ก.ย.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยผลการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา​ (มี.ค.-ก.ย. 64) ว่า กระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินการปิดกั้นและดำเนินการต่อผู้นำเข้าข้อมูลผิดกฎหมาย โดยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้มีคำสั่งปิดกั้น จำนวน 56 คำร้อง รวม 1,014 ยูอาร์แอล  และมีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นแล้ว จำนวน 46 คำสั่ง รวม 787 ยูอาร์แอล ขณะที่ อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลอาญา จำนวน 10 คำสั่ง รวม 221 ยูอาร์แอล

สำหรับการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลฯ ดำเนินการไปแล้ว 594 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ แบ่งเป็น ผู้กระทำความผิดผ่านเฟซบุ๊ก​ 309 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ ผ่านทวิตเตอร์ 169 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ ผ่านยูทูบ 99 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ และผ่านเว็บอื่นๆ 17 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ

ทางด้านการดำเนินงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศตปค.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี​ (บช.สอท.) รับข้อมูลข่าวปลอมและบิดเบือนจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มาดำเนินการในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 64 จำนวน 419 เรื่อง ประสานให้หน่วยงานผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 47 คดี และมีการตักเตือนให้ลบหรือแก้ไขข่าว จำนวน 34 ราย และอยู่ระหว่างสืบสวน 73 เรื่อง

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงจะดำเนินการให้มีความเข้มข้นมากขึ้นสำหรับในปีต่อไป โดยนอกเหนือจากการปราบปรามและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมแล้ว เตรียมขยายผลให้ครอบคลุมภารกิจให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหาย อันเกิดจากการฉ้อโกงหรือการกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชน รณรงค์ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขข่าวปลอมมากขึ้นด้วย

“ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ประสานงานการตรวจสอบข่าวปลอม และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานในด้านข่าวปลอม ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเ พื่อสร้างสังคมการใช้โซเชียลสีขาวให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ส่วนในเรื่องการขยายขอบเขตงาน กระทรวง จะเร่งดำเนินการให้ ครอบคลุมการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ มากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำธุรกิจหลอกลอง ต้มตุ๋นประชาชน ฉ้อโกงประชาชน และอื่นๆ” นายชัยวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนแจ้งเบาะแสการฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางโซเชียล โดยแจ้งเข้ามาได้ผ่านช่องทาง ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และโทรฯ​ สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 รวมทั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ โทร. 1212 เพื่อจะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป