สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงการากัส ประเทศเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ว่า รายงานผลการสำรวจภาวะการดำรงชีวิตแห่งชาติ หรือ เอ็นโควี (The 2020-2021 National Survey of Living Conditions : ENCOVI) ประจำปี พ.ศ. 2563-2564 โดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยคาทอลิกแอนเดรส เบลโล หรือ ยูแค็บ (Andres Bello Catholic University : UCAB) พบว่า ชาวเวเนซุเอลา 76.6% ของประชากรทั้งประเทศ 28 ล้านคน ดำรงชีพอยู่ด้วยความยากจนสุดขีด หรือความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ตามคำจำกัดความของธนาคารโลก อัตราสูงขึ้นจาก 67.7% เมื่อปีที่แล้ว

รายงานระบุสาเหตุหลัก 2 ประเทศ ที่ทำให้อัตราความยากจนสุดขีด ของชาวเวเนซุเอลาพุ่งสูงขึ้นอีก ในปีนี้คือ การระบาดของโควิด-19 และภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงเรื้อรัง

เปโดร หลุยส์ เอสปันญา นักสังคมวิทยา หนึ่งในทีมงานวิจัยของยูแค็บ เผยว่า การสำรวจวิจัย เอ็นโควี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อทดแทนข้อมูลอย่างเป็นทางการ ของรัฐบาลเวเนซุเอลา ที่ขาดหายไป

เมื่อวัดเฉพาะระดับรายได้ ชาวเวเนซุเอลา 94.5% ดำรงชีพอยู่ด้วยความยากจน นับเป็นอัตราความยากจนที่สูงที่สุดในภูมิภาค

เอสปันญา กล่าวว่า นอกเหนือจากการสูญเสียกำลังซื้อ การขาดแคลนงานทำยังช่วยเพิ่มปัญหา และภาครัฐเวเนซุเอลาจ่ายเงินเดือนต่ำมาก อัตราค่าแรวขั้นต่ำของประเทศ อยู่ที่เดือนละประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 101.59 บาท และภาคเอกชนของเวเนซุเอลามีขนาดเล็ก “ตอนนี้เวเนซุเอลาขาดแคลนโอกาส ประชาชนจำนวนมากนั่งอยู่หน้าประตูบ้าน ไม่ทำอะไร ไม่ใช่เพราะไม่อยากทำ แต่เพราะไม่มีอะไรให้ทำ หรือไม่มีทางที่จะไป” เอสปันญา กล่าว

รัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร กล่าวโทษความหายนะของประเทศ เกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐ แต่นักวิจารณ์ชี้ว่า วิกฤติเกิดจากการบริหารจัดการเศรษฐกิจผิดพลาด ของมาดูโรและคณะ.

เครดิตภาพ – REUTERS, Getty Images
เครดิตคลิป – VOA News