ภายหลังจากเมื่อวันที่ 26 มี.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน-คดีตีนไก่สวมสิทธิ ได้เข้าจับกุมตัวนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือมิกซ์ บุตรชายบุญธรรมของนายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า 1 ใน 5 ผู้ต้องหาคดีตีนไก่สวมสิทธิ หรือคดีพิเศษที่ 127/2566 ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนนำตัวเข้าสอบปากคำคลี่คลายประเด็นการกระทำความผิด นำเข้าชิ้นส่วนไก่และตีนไก่สำแดงเท็จโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 มี.ค. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เปิดเผยผลการสอบปากคำนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีตีนไก่สวมสิทธิขายส่งประเทศจีน ว่า จากการสอบปากคำ คณะพนักงานสอบสวนได้ใช้เวลาในการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสิ้น 5 ชม. และผู้ต้องหาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนการที่ผู้ต้องหาประสานติดต่อเข้ามอบตัวตามหมายจับศาลอาญา พร้อมต่อสู้คดี และให้การเป็นประโยชน์ในบางส่วน พนักงานสอบสวนจึงมีความเห็นเสนอต่อ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ให้ประกันตัวชั่วคราวด้วยการวางหลักทรัพย์ 200,000 บาท ก่อนนัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวและสอบปากคำในประเด็นตกค้างอื่นๆ อีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย.
สำหรับ 20 ประเด็นคำถามที่คณะพนักงานสอบสวนใช้ถามนายกรินทร์นั้น พ.ต.ต.ณฐพล เผยว่า เป็นประเด็นเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนที่เจ้าตัวจะถูกออกหมายจับ เนื่องจากพอทราบว่าตัวเองถูกออกหมายจับขณะทำธุรกิจที่สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงมีการเตรียมตัวประมาณหนึ่ง ก่อนประสานผ่านทนายความขอเข้ามอบตัว อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังได้สอบถามถึงเรื่องการประกอบธุรกิจ เพราะตามรายงานการสืบสวนสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาได้เข้าไปเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามถึง 9 บริษัท และเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นกรรมการจริง แต่การบริหารจัดการก็มีคนอื่นๆ มาดำเนินการด้วย โดยแต่ละบริษัทก็มีหุ้นส่วนมาร่วมลงทุน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 9 บริษัทนี้มีทั้งบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตร จำพวกขายส่งเนื้อสัตว์ และเมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามเรื่องการโอนเงินหรือการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น เจ้าตัวปฏิเสธตอบคำถาม แต่กล่าวอ้างถึงผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ในบริษัทแทน โดยยืนยันว่าตัวเองไม่รู้เรื่อง มีบทบาทเพียงเป็นผู้ติดต่อประสานงาน
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า นายกรินทร์ ยังย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ว่า เป็นผู้ดำเนินการติดต่อประสานกับบริษัทที่ประเทศจีน แต่รายละเอียดเชิงลึกยังไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด เพราะเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขายส่งตีนไก่สวมสิทธิไปยังประเทศจีน ทำเพียงธุรกิจนำผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูปจากประเทศจีนมาจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น โดยจำหน่ายผ่านบริษัท โกลเด้น ชาวเวอร์ เทรดดิ้ง จำกัด (Golden Shower Trading Co.,ltd.) ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่นายกรินทร์ยังไม่ได้ให้การ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินและการโอนเงิน การเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามใน 9 บริษัท ผู้ต้องหาได้ขอกลับไปรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานให้ครบถ้วนและจะเข้ามาชี้แจงอีกครั้งในวันที่ 25 เม.ย.
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนยังได้สอบถามนายกรินทร์ถึงเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวกับข้าราชการฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะในกรณีของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะอดีต รมว.เกษตรฯ เนื่องจากนายกรินทร์ได้มีการใช้นามสกุล “ปิยพรไพบูลย์” ซึ่งเป็นนามสกุลของพี่ชายนายเฉลิมชัย (นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์) โดยเจ้าตัวให้การว่าเฮียเก้า บิดา เป็นคนพาไปหานายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อไปขอใช้นามสกุล ทั้งยืนยันว่าบิดาเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด ตัวเองไม่รู้เรื่องอะไรด้วย และจะนำเอกสารการเปลี่ยนแปลงชื่อ-นามสกุล มาชี้แจงอีกครั้ง เนื่องจากชื่อเดิม คือ “นายปรีชา แซ่จ้าว” นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังสอบถามว่ารู้จักกับนายสมเกียรติ กอไพศาล อดีตเลขาฯส่วนตัวของนายเฉลิมชัย หรือไม่ ซึ่งนายสมเกียรติ หรือเฮียเกียรติ ก็เป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาในคดีเดียวกันกับนายกรินทร์นั้น เจ้าตัวระบุว่า เคยเจอกับนายสมเกียรติ ที่งานสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย ซึ่งมีเฮียเก้า (บิดา) ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคม ส่วนการไปข้องเกี่ยวหรือรู้จักกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น นายกรินทร์ ระบุว่า ตัวเองไม่รู้จักใคร แต่บิดาเป็นผู้ดำเนินการติดต่อประสานงานเองทั้งหมด
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวด้วยว่า เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามนายกรินทร์ เกี่ยวกับการรับโอนเงิน 20 ล้านบาทจากเฮียเก้า (บิดา) คือยอดเงินอะไร ซึ่งนายกรินทร์ให้การว่า 20 ล้านบาทนี้ เป็นค่าก่อสร้างบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นค่าทำธุรกิจขายส่งตีนไก่ไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ ในบรรดากว่า 20 คำถามที่พนักงานสอบสวนใช้สอบปากคำนายกรินทร์ ปรากฏว่าเจ้าตัวให้ความร่วมมือตอบเฉพาะเรื่องทั่วไป แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำธุรกิจต่างๆ ให้การเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องของกรรมการและหุ้นส่วนรายอื่นๆ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงชื่อและนามสกุลของนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ จากเดิมชื่อนายปรีชา แซ่จ้าว นั้น มีการไปสวมบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ จ.น่าน อีกทั้งบุตรอีก 2 รายของนายหลี่ หรือเฮียเก้า ก็มีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเช่นเดียวกัน โดยมีเฮียเก้าเป็นคนดำเนินการจัดการให้ เพราะตามข้อเท็จจริง เมื่อคนจีนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทุกคนก็รู้จักกัน นายหลี่จึงสามารถใช้นามสกุล “ปิยพรไพบูลย์” โดยได้รับอนุญาตจาก “นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์” เซ็นอนุญาต ซึ่งในกรณีนี้ จะเป็นกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินคดี ส่วนห้วงเวลาที่นายกรินทร์ได้เปลี่ยนแปลงชื่อนามสกุลเดิม เกิดขึ้นในห้วงปี พ.ศ. 2565