ในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หอบคณะเดินสายลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมมีประเด็นการเมืองแหลมคมถูกเปิดขึ้นมาจากฝั่งพรรคเพื่อไทย (พท.) เรื่องตีความรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติชัดเจน

“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่  แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

บทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ ทำให้เกิดการถกกเถียงจะเริ่มนับหนึ่ง ระยะเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ตอนไหน

(1)เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรกครบวาระ 8 ปี วันที่ 23 ส.ค. 2565

(2) เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ครบวาระ 8 ปี วันที่ 5 เม.ย. 2568

(3) เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ครบวาระ 8 ปีวันที่ 8 มิ.ย. 2570

ขณะที่ในมุมของฝ่ายเกี่ยวข้องกับการยากร่างรัฐธรรมนูญ ความเห็น ยังแตกเป็น 2 ฝ่าย  

นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรนับวาระหลังการเลือกตั้งในปี 2562 เพราะต้องนับวาระนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง

“สมัยยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหานี้ เพราะเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า มาตรา 158 เป็นเกณฑ์ใหม่ แม้คล้ายรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ห้ามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันเกิน 8 ปี หลักเกณฑ์ใหม่กระบวนการใหม่เกิดขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  ถ้าบังคับใช้ย้อนหลังคงไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก นายกรัฐมนตรีสมัย คสช.มาจากรณีพิเศษ ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส่วนตัวผมไม่มองว่าใครอยู่ยาวหรืออยู่สั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องของอนาคตที่มีคนนำเรื่องนี้มาตีปลาหน้าไซ” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าว

นายเจษฎ์  โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. มองว่าสำหรับตนแล้วจะนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา   264 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560  จนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่ไปด้วย

ส่วนคนที่บอกว่าให้นับวาระตั้งแต่ปี 2560 ที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ ถามว่าทำไมถึงนับปี 2560 ส่วนคนที่บอกให้นับวาระหลังเลือกตั้งปี 2562 ถามว่าทำไมจึงนับหลังการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บอกชัดเจน ดังนั้นคุณต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

ท้ายที่สุดปัญหาเรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 สร้างทั้งมิตรและศัตรูมากมาย 

ดวงชะตา พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเดินมาถึงทางสองแพร่ง ที่ต้องตัดสินใจระหว่างไปต่อหรือพอแค่นี้ หาวิธีลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม ไม่ถูกแว้งกัด!!