นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ซิสโก้ได้เผยผลการศึกษา ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ สำหรับเอสเอ็มอี: การเตรียมพร้อมขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกสำหรับการป้องกันภัยทางดิจิทัล พบว่า เอสเอ็มอี ของไทยจำนวน 65% ถูกโจมตีทางไซเบอร์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 47% ของเอสเอ็มอีที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ ได้รับความเสียหายทางธุรกิจกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16 ล้านบาท) ขณะที่อีก 28% ได้รับความเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32 ล้านบาท) หรือมากกว่านั้น และเอสเอ็มอีจำนวน 76% จะสูญเสียข้อมูลลูกค้า หลังถูกโจมตีทางไซเบอร์ โดยรูปแบบการโจมตีด้วยมัลแวร์ ครองอันดับหนึ่งในไทย ส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี 91% ตามด้วยฟิชชิ่ง จำนวน  77%

นอกเหนือจากการสูญเสียข้อมูลลูกค้าแล้ว เอสเอ็มอีในไทยที่ถูกโจมตียังสูญเสียข้อมูลของพนักงาน จำนวน 69%, อีเมลภายในองค์กร 65%, ทรัพย์สินทางปัญญา 53%, ข้อมูลด้านการเงิน 57% และข้อมูลธุรกิจที่สำคัญ 49% นอกจากนี้เอสเอ็มอี 56% ประสบปัญหาการดำเนินงานหยุดชะงักเนื่องมาจาก การโจมตีทางไซเบอร์ด้วย

นายทวีวัฒน์ กล่าวต่อว่า เอสเอ็มอีในไทยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือจำนวน 49% ที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กร ถูกโจมตีเป็นเพราะว่าโซลูชั่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไม่มีประสิทธิภาพ เพียงพอที่จะตรวจจับ หรือป้องกันการโจมตี ขณะที่ 25% ระบุว่าสาเหตุหลักคือ องค์กรไม่ได้ติดตั้งโซลูชั่น ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ

“เอสเอ็มอีในไทยเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีสำหรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเป็นผลมาจากการ แพร่ระบาดของโควิด-19 การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีและ โซลูชั่นที่จะช่วยปกป้ององค์กรให้รอดพ้นจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เนื่องจากยิ่งธุรกิจ เป็นรูปแบบดิจิทัล มากเท่าไร ก็จะยิ่งตกเป็นเป้าหมายการโจมตี ของคนร้ายมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเอสเอ็มอีไทย 95% กำลังดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อปรับปรุงไซเบอร์ซีเคียวริตี้ขององค์กรเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น”