มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (มกช.) ร่วมกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคอร์ฟบอลแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาจานร่อนแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาซอฟท์บอลแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาปีนหน้าผาแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาวู้ดบอลแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะแห่งประเทศไทย ได้ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ผ่านมา ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก
ในพิธีลงนามครั้งนี้มี นายวิษณุ ไล่ชะพิษ ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี ม.การกีฬาแห่งชาติ, ผศ.ดร.ฉัตร์ชัย แสงสุขีลักษณ์ รองอธิการบดี ม.การกีฬาแห่งชาติ ฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ พร้อมด้วย นายบริราช กาญจนาคม นายกสมาคมกีฬาคนหูหนวกฯ, น.ส.อัญชลินทร์ ศิวลักษณ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาคนหูหนวก, รศ.ดร.สุปราณี ขวัญบุญจันทร์ นายกสมาคมกีฬาคอร์ฟบอล, น.ส.อันธิกา ธรรมผาติ เลขาธิการสมาคมกีฬาคอร์ฟบอลฯ, ผศ.ดร.อิษฎี กุฏอินทร์ นายกสมาคมกีฬาจานร่อนฯ
พร้อมด้วย นายชนานันต์ สมาหิโต เลขาธิการสมาคมกีฬาจานร่อนฯ, นายยศไกร เพียรพาณิชย์พร นายกสมาคมกีฬาซอฟท์บอลฯ, นายภูวนัย ไวชมภู เลขาธิการสมาคมกีฬาซอฟท์บอลฯ, นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล นายกสมาคมกีฬาปีนหน้าผาฯ, นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เลขาธิการสมาคมกีฬาปีนหน้าผาฯ, นายสัณหณัฐ สีจำปี นายกสมาคมกีฬาผู้เปลี่ยนอวัยวะฯ, ดร.พัฒนาชาติ กฤดิบวร นายกสมาคมกีฬาวู้ดบอลฯ และ นายปภาวิน อัตถศิลปกิจ เลขาธิการสมาคมกีฬาวู้ดบอลฯ ร่วมกันเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้
สำหรับโครงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้ง 7 สมาคมกีฬา ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินงานในการพัฒนากีฬาของสมาคมฯ ทางด้านวิชาการ และความร่วมมือกีฬาสู่ความเป็นเลิศ
นายวิษณุ ไล่ชะพิษ กล่าวว่า ในนามของ ม.การกีฬาแห่งชาติ ในการลงนาม MOU ครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีและเป็นบทบาทใหม่ของการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นภารกิจที่เราต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ การจัดการแข่งขันในสถาบันการศึกษา เราหวังว่าในอนาคตจะมีกีฬาบรรจุเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของเรา อย่างที่สอง ก็เน้นในการบริการสังคมและชุมชน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เราต้องทำ แต่ว่าในการลงนามกับ 7 สมาคมกีฬาครั้งนี้ จะเน้นไปที่การบริหารสมาคมมากกว่า เพื่อสร้างนักกีฬาให้กับประเทศชาติ
ภารกิจสุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา โดยนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของชาตินั้น เราก็จะดำเนินการในเชิงองค์ความรู้ด้วย เช่น หลักสูตรการเรียนการสอน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในเรื่องของนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน ซึ่งกีฬาเหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก จึงเป็นภารกิจหลักในการลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ ขอขอบคุณสมาคมกีฬาทั้ง 7 สมาคม ที่มาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ ในการที่จะพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาและบุคลากรในอนาคต
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.สุปราณี ขวัญบุญจันทร์ กล่าวว่า ในนามของสมาคมกีฬาทั้ง 7 สมาคม เรามีความคาดหวังอย่างมากที่จะนำ 7 ชนิดกีฬา เข้าไปมีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ รวมไปถึงโรงเรียนกีฬาต่างๆ ด้วย ซึ่ง 7 สมาคมกีฬานี้เป็นสมาคมกีฬาน้องใหม่ ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เราจะทำอย่างไรให้ชนิดกีฬาเหล่านี้แพร่หลายและเป็นที่นิยมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปในวงการการศึกษา อย่าง ม.การกีฬาแห่งชาติ ที่มีทั้งการศึกษาในระดับมัธยมและอุดมศึกษา นั่นคือการต่อยอดองค์ความรู้ ในเชิงกีฬาทั้ง 7 ชนิดกีฬา ซึ่งจะต่อยอดสู่การพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชนและทีมชาติในอนาคต
นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ เราจะเน้นพัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอน ก็คือเราจะทำอย่างไรให้ 7 ชนิดกีฬาเหล่านี้ เป็นกีฬาทางเลือกในหลักสูตรของวิชาพลศึกษา หรือวิทยาศาสตร์การกีฬา และศิลปศาสตร์ต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติมี และเราจะต้องพัฒนาในตัวบุคลากรด้วย เพื่อที่ในอนาคตเราจะได้มีบุคลากรที่มีศักยภาพอยู่ตามสมาคมกีฬาต่างๆ รวมไปถึงการมาเป็นผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินในระดับนานาชาติ เราจึงเห็นว่าโรงเรียนกีฬาและมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จะเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตบุคลากรทั้ง 7 ชนิดกีฬาและจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต.