ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกในปัจจุบัน มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ฉายภาพได้ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ หนีไม่พ้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์พลังแต่ละองค์กรว่า จะก้าวข้ามฝ่าวิกฤตมุ่งหน้าไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร และโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่ทุกคนต่างจับตาคือจะนำศักยภาพที่มีอยู่ช่วยเหลือเคียงข้างคนไทยให้ก้าวพ้นวิกฤตร่วมกันไปได้อย่างไร?

ต้องยอมรับว่า ทั้ง 2 ภารกิจใหญ่ หนึ่งในองค์กรที่ตอบโจทย์อย่างชัดเจน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ที่เรียกได้ว่า ระดมสรรพกำลังทุกสิ่งที่กลุ่ม ปตท. มี เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้เอง “นางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำกับดูแลองค์กรและกิจการสัมพันธ์ ปตท. ได้เปิดมุมมองต่อการช่วยเหลือไว้อย่างชัดเจนว่า “การให้อย่างเดียว แม้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเห็นผลอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสีย มันไม่เกิดความยั่งยืน ในแง่การทำงานด้าน CSR กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งเน้นการสร้างคุณค่า สร้างโอกาสสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”   

ซึ่งก่อนที่องค์กรจะให้แก่สังคมได้นั้น จะต้องเริ่มจากสร้างรากฐานให้มั่นคงด้วยการยึดหลัก  ESG ที่ประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) ควรใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ต้องมี ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social) โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เราเติบโตไปพร้อมๆ กัน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) องค์กรที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์ที่ชัดเจน และดำเนินกิจการตามกลยุทธ์ ได้สำเร็จมีประสิทธิภาพ อยู่บนพื้นฐานของความมีจริยธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น  หรือทำผิดกฎหมาย และที่สำคัญต้องปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นางสาวดวงพร มองว่า สังคมโลกในปัจจุบันนี้ ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม  ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้ให้ความสำคัญ และดำเนินโครงการมามากมาย เช่น Café Amazon for Chance ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ได้เข้าทำงานและพัฒนาทักษะให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้  

ถัดมา โครงการ PTT Day Care ที่ให้พนักงานในกลุ่ม ปตท. นำลูกเล็กก่อนปฐมวัยมาฝากไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ ซึ่งได้แม่บ้านจากสมาคมแม่บ้านการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ผ่านการอบรมและได้รับใบรับรองมาช่วยดูแลลูกๆ ของพนักงานกลุ่ม ปตท. ช่วยสร้างรายได้และทักษะอาชีพให้แก่สมาคมแม่บ้านรถไฟฯ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานกลุ่ม ปตท. ที่มีลูกเล็กได้ทำงานอย่างเต็มที่ และมี Work Life Balance ได้อย่างเหมาะสม

โครงการ Restart Thailand ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้เปิดรับกลุ่มแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช. ถึงปริญญาตรีจบใหม่ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 25,000 อัตรา เพื่อเริ่มดำเนินงานตลอดปี 64 เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ตลอดจนเสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและระบบเศรษฐกิจไทย

ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนจะเห็นภาพพนักงานกลุ่ม ปตท. ระดมเป็นจิตอาสาเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีทุกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ นางสาวดวงพร ได้ขยายความให้เห็นภาพว่า เป็นเพราะกลุ่ม ปตท. มีการทำกิจกรรมจิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ ผ่านชมรมพลังไทย ใจอาสา กลุ่ม ปตท. พนักงานจึงคุ้นชินและอยากที่จะมีส่วนร่วมในการทำความดีอย่างสม่ำเสมอ และได้เคยสำรวจความเห็นของการทำกิจกรรมจิตอาสา พบว่า พนักงานของกลุ่ม ปตท. สนใจทำจิตอาสา แต่ความสนใจหรือความถนัดก็จะแตกต่างกันออกไปตามช่วงวัยด้วย

หากถามว่าในอนาคตข้างหน้า มองภาพ ปตท. เป็นอย่างไร นางสาวดวงพรตอบอย่างมั่นใจว่า ปตท. จะยังคงเป็นองค์กรพลังงานแห่งชาติที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมขยับตัวตามกระแสโลกอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นองค์กรที่ไม่ตกยุค จึงกลายเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ว่า “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต”  และจะยังคงดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุลไว้เช่นนี้ ดังนั้นการระดมจิตอาสาและหยิบยื่นโอกาสต่างๆ ให้แก่สังคมก็จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ ปตท. จะยังคงรักษาไว้ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต