เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านพบเสือโคร่งลายพาดกลอนขนาดใหญ่ เดินป้วนเปี้ยนกลางหมู่บ้าน พื้นที่หมู่ที่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา และกัดคอลากหมูจากเล้าของชาวบ้านตายไป 1 ตัว หลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน พร้อมทีมองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 60 นาย แกะรอยติดตามเพื่อจับเสือโคร่งคืนสู่ป่าต่อเนื่อง พร้อมกับมีการตั้งชื่อเป็นภาษากะเหรี่ยงไว้ล่วงหน้าว่า “เสือโคร่งบะลาโกล” แปลว่า เสือโคร่งคลองลาน นั่นเอง

ล่าสุด เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา (19 ก.พ.) นายสุรชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน ร่วมปฏิบัติการติดตามหาร่องรอยเสือโคร่ง โดยการปรับแนวทางปฏิบัติงานตลอดเวลาตามสถานการณ์ ตลอดเวลา 5 วัน โดยให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน จำนวน 50 นาย แบ่งกำลังคอยเฝ้าระวังทั้งในหมู่บ้านและควบคุมพื้นที่ปิดล้อมป่ามะขาม และป่าไผ่โดยรอบพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนคณะทำงานของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี ได้ร่วมกันตรวจสอบบริเวณที่ติดกับดักเอาไว้ แต่เสือโคร่งยังไม่ติดกับดักแต่อย่างใด

กระทั่งเวลาประมาณ 21.50 น. กล้อง Camera trap จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF ประเทศไทย) จับภาพเสือโคร่งเดินย้อนเส้นทางจากหลังวัดน้ำตก สำนักวิปัสสนากรรมฐานน้ำตกคลองลาน เข้ามากินเหยื่อที่วางล่อไว้ แล้วติดกับดักที่ขา จากนั้นทีมยิงยาสลบที่ซ่อนตัวอยู่บนต้นไม้ ได้ยิงยาสลบเข้าไป 1 เข็ม ขณะที่นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รุดเข้าทำการวางยาสลบและประสานเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่อยู่รอบนอก รีบหามร่างเสือโคร่งนำออกมาจากป่า ตรวจสุขภาพแล้วนำเข้ากรงที่นำมารอไว้อย่างรีบเร่ง เนื่องจากเกรงหมดฤทธิ์ยา กันไม่ให้บันทึกภาพ คลุมผ้าดำปิดกรง แล้วนำใส่รถปิกอัพของหน่วยงานเดินทางไปที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ปาห้วยขาแข้ง ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่อยู่ห่างไปประมาณ 100 กิโลเมตรทันที

ซึ่งจากการตรวจสอบสุขภาพเสือโคร่งเบื้องต้น เป็นเสือโคร่งเพศเมีย อายุประมาณ 2 ปี ความยาวลำตัวประมาณ 1.50 เมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ร่างกายอ้วนขึ้นจากเดิมเพราะได้กินเหยื่อที่เป็นอาหารไปหลายวัน จากการประเมินสุขภาพแล้วไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะต้องนำเสือโคร่งไปดูแลฟื้นฟูบำรุงร่างกายก่อนติดปลอกคอวิทยุติดตามตัวเพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ของเสือโคร่งก่อนทำการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งไปปล่อยสู่ป่าธรรมชาติต่อไป

ทั้งนี้ ทางเพจ Thailand Tiger Project DNP อัปเดตเสือโคร่งคลองลาน น้องบะลาโกล ตื่นขึ้นมาอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีนายสัตวแพทย์คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่า มีความเครียดเล็กน้อยและตอบสนองเสียงร้องของเสือโคร่งตัวอื่นด้วยอาการหยุดและฟัง แต่ไม่มีอาการตื่นกลัว สำหรับดวงตาที่ขุ่นและเป็นฝ้า เนื่องจากมีแผลที่กระจกตา หากแห้งได้เองก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ จะดูแลให้ใกล้เคียงกับความเป็นอยู่ตามธรรมชาติมากที่สุด หลีกเลี่ยงการสร้างความผูกพันกับพี่เลี้ยง เพื่อที่จะได้ปล่อยกลับและดำรงชีพในธรรมชาติได้สำเร็จ