ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ซีเมนต์ 2.ไฟฟ้า 3.ปุ๋ย 4.เหล็กและเหล็กกล้า 5.ไฮโดรเจน และ 6.อะลูมิเนียม โดยในวันที่ 1 ม.ค. 69 จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่มจะต้องซื้อ CBAM Certificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น
ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องเตรียมตัวอย่างไร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลตลอดวัฏจักรชีวิตและการประยุกต์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการค้า สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อมวลชน ในกิจกรรม NSTDA Meets the Press เรื่อง: มาตรการ CBAM ใครพร้อม ได้ไปต่อ ชวนปลดล็อก การปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนสหภาพยุโรป หรือ EU
“อะลูมิเนียม” ทำค่ากลางสำเร็จ
นายธีรพันธุ์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรก 1 ใน 6 อุตสาหกรรม ที่สามารถดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการ CBAM ได้สำเร็จ โดยได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในการจัดทำค่ากลางของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมตามกรอบ CBAM ซึ่งค่ากลางดังกล่าวครอบคลุมผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหล่อบิลเล็ต, กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมหน้าตัด และกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมแผ่นม้วนภายในประเทศ เพื่อให้ได้ทราบถึงรายการสารขาเข้า และสารขาออกของแต่ละกระบวนการผลิตย่อยของบริษัทตนเอง หรือกระบวนการผลิตรวมของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม
“หลายอุตสาหกรรมยังกังวลและมอง CBAM เป็นอุปสรรค กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมกลับมองเป็นโอกาส เพราะในกรณีที่ประเทศไทยจะส่งออกไปที่สหภาพยุโรปเหมือนประเทศคู่แข่งอื่น ๆ หากประเทศไทยสามารถผ่านมาตรการ CBAM กับผู้ส่งออกในยุโรปได้สำเร็จ จะได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะสู้ต้นทุนการลดค่าคาร์บอนตามข้อบังคับของ CBAM ไม่ไหว และอาจจะล้มเลิกการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกับไทยก็เป็นได้ ซึ่งโอกาสจะกลับมาเป็นของไทยที่จะสามารถขยายอัตราการส่งออกสินค้าอะลูมิเนียมได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม” นายธีรพันธุ์ กล่าว
ปี 2566 ไทยมีปริมาณการส่งออกอะลูมิเนียม อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านตัน มีตลาดส่งออกไปที่ยุโรปประมาณ 4-5% หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท หากไทยยังปรับตัวไม่ได้กับมาตรการ CBAM นั่นหมายความว่ามูลค่าการส่งออก 4,000 ล้านบาทจะหายไปในทันที ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เข้าสู่สถานการณ์หาก CBAM เริ่มขยายการบังคับใช้
นายธีรพันธุ์ กล่าวอธิบายว่า ปลายทางที่กลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมส่งไปที่ยุโรป เช่น อะลูมิเนียมแผ่น ทั้งแผ่นบางและแผ่นหนา ซึ่งผู้ประกอบการในยุโรปที่ผลิตเครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ จะนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นจากประเทศไทยเข้าไปผลิต ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องดำเนินการตามมาตรการ CBAM โดยต้องประเมินตนเองและกรอกข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าค่าการปล่อยคาร์บอนของวัสดุอะลูมิเนียมที่ส่งออกเป็นปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งในอนาคตผู้ประกอบการแอร์ที่จะส่งแอร์ไปขายในยุโรปและประเทศต่าง ๆ ต้องทราบว่าจะใช้อะลูมิเนียมกี่กิโลกรัม และจากการคำนวณการใช้กี่กิโลกรัมแล้ว จะใช้วัสดุต้นทางจากที่ใด และแยกออกเป็นเฉพาะวัสดุอะลูมิเนียมจำนวนเท่าใด หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์บริโภคอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มกระป๋อง-น้ำอัดลมกระป๋อง ล้วนเข้าข่ายมาตรการ CBAM ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมศึกษาข้อมูลเพื่อรับกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรปทั้งสิ้น
CBAM ส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้า
ดร.จิตติ กล่าวว่า สวทช. ได้จัดทำโครงการ “ศูนย์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ประเทศไทยจึงเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้จัดทำข้อมูลค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวคิด CBAM ซึ่งเป็นค่ากลางของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้ากับสหภาพยุโรป
สำหรับมาตรการ CBAM จะส่งผลให้ราคาวัสดุสินค้าเพิ่มขึ้นมา 15% ตัวอย่างเช่น การซื้อแท่งอะลูมิเนียมต่างสถานที่กัน ราคาเฉลี่ยอาจไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ไม่เท่ากันคือ ตัวค่าคาร์บอนของอะลูมิเนียมของแต่ละประเทศ ดังนั้นอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อสู้กับการแข่งขันประเทศอื่นๆด้วย ประเทศไทยไม่มีโรงถลุงอะลูมิเนียมต้นทาง โดยเป็นการซื้อจากต่างประเทศมาทั้งหมด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมมีกำไรเพียง 10 % ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่ได้เพราะว่าผลิตเป็นจำนวนมากหลักแสนตัน หากในอนาคตกำไรน้อยลงจากมาตรการ CBAM ก็อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้โดยตรงเช่นกัน
“สิ่งที่เป็นผลสำเร็จของกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ให้เดินได้ตามมาตรการ CBAM ขณะนี้ คือ ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ให้บริการข้อมูลพื้นฐาน (Background data) ของวัสดุในประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นค่ากลางของประเทศ นำไปใช้ประโยชน์อ้างอิงข้อมูลสินค้าตามมาตรการ CBAM ที่สหภาพยุโรปกำหนด”
คาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 2 ปี CBAM จะเพิ่มประกาศใช้กับอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน (Oil refineries) อุตสาหกรรมการผลิตแก้ว (Glass) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ (Acids and bulk organic chemicals) เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.
พรประไพ เสือเขียว
[email protected]