ปฏิเสธไม่ได้ว่า “โรคอ้วน” เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพระดับโลกและประเทศไทยก็เช่นกัน โดยแนวโน้มได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) มีรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2559 ความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่เท่ากับ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่า 1 ใน 3 และคนไทยยังมีภาวะโรคอ้วนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย จากประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน ที่สำคัญโรคอ้วนยังเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ ฯลฯ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

ล่าสุด ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ศัลยแพทย์โรคอ้วน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ “ศูนย์รักษ์พุง” หรือ “คลินิกโรคอ้วน” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการบำบัดรักษาและป้องกันโรคอ้วนแบบครบวงจร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลป้องกันโรคอ้วน ควบคู่ไปกับการรักษาโรคอ้วนอย่างถูกวิธี จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน หรือ 100KG Obesity Run 2024 ณ ลานจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ โดยมีบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้สนับสนุนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยออกกำลังกาย ป้องกันโรคอ้วน และสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายให้แก่ประชาชนทั่วไป จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ผู้ใหญ่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำเป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอีกด้วย

ดังนั้นวิธีป้องกันโรคอ้วนที่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุดคือ การเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมีสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ การรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้คุณค่าทางอาหารสูง แต่ให้พลังงานต่ำ ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งการวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งในการรักษาภาวะน้ำหนักเกิน ช่วยลดปริมาณไขมันที่สะสมในช่องท้องและใต้ผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่มากับโรคอ้วนได้อีกด้วย

จากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีพ.ศ. 2560 รายงานว่าการวิ่งเหยาะๆ หรือ เดินเร็ว เป็นการเผาผลาญไขมันได้ดีที่สุด แต่ที่สำคัญจะต้องวิ่งหรือเดินเร็วให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก เนื่องจากการวิ่งเหยาะๆ หรือการเดินเร็วเป็นการใช้ความหนักในการออกกำลังกายไม่มาก (low intensity) ทำให้ได้ระยะทางไกลกว่าการวิ่งเร็ว และยังเผาผลาญไขมันได้มากกว่าแป้ง เพราะไขมันจะถูกเผาผลาญก็ต่อเมื่อวิ่งต่อเนื่องนานถึง 30 นาที ขณะที่การวิ่งเร็วๆ แต่ไม่ถึง 30 นาที แล้วต้องหยุด จึงลดไขมันไม่ได้

สำหรับกิจกรรม “เดิน-วิ่ง ร้อยโลรวมใจต้านภัยโรคอ้วน” หรือ “100KG Obesity Run 2024” ในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ซึ่งศูนย์รักษ์พุง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์โรคอ้วนในปัจจุบัน โดยสร้างการรวมตัวสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัมได้เข้าร่วมกิจกรรม เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 100 กิโลกรัมก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เช่นกันแต่หากจะต้องลงทะเบียนแบบกลุ่มและจะต้องมีน้ำหนักรวมกันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 กิโลกรัม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเดิน-วิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 2 กิโลเมตร ภายในงานยังมีเวทีแบ่งปันความรู้เรื่องโรคอ้วนและนิทรรศการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ตลอดกิจกรรมยังอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด

ศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กก./ตร.ม. และผู้ป่วยโรคอ้วน มีค่า BMI มากกว่า 30 กก./ตร.ม. สามารถรักษาได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์ อีกทั้งการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่หลายหลายมากขึ้นในปัจจุบัน หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันเรามีนวัตกรรมยามากขึ้นสำหรับการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยและได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เช่น ยาในกลุ่ม GLP-1 analogues ในรูปแบบปากกาฉีดที่สามารถใช้ในการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนได้ ขณะที่ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 32.5 กก./ตร.ม. และมีโรคร่วมที่เป็นภาวะแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 กก./ตร.ม. แพทย์อาจต้องพิจารณาการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ได้แก่ 1. การผ่าตัดลดกระเพาะอาหาร และ 2. การผ่าตัดบายพาส โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินร่วมกับแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงภาวะโรคอ้วนและโรคต่างๆ ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ”

ผู้สนใจติดตามข่าวสารศูนย์รักษ์พุง ได้ที่ https://www.facebook.com/ChulaBMI?mibextid=ZbWKwL หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2256-4000 ต่อ 71205 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ)