จากกรณีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้ทำการนัดหมายผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 57/2566 หรือ คดีหุ้นสตาร์ค (STARK) อย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.น.ส.ยสบวร อำมฤต และ 3.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ ฟังคำสั่งคดี หลังจากเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาในคดีไปก่อนเเล้ว 7 ราย จากทั้งหมด 12 ราย ที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดหมาย น.ส.ยสบวร และ นายกิตติศักดิ์ ได้เข้ามาฟังคำสั่งคดีกับอัยการ ขณะที่นายวนรัชต์ ไม่ได้เข้ามารับฟังคำสั่งคดี มีเพียงทนายความที่เข้ามาพบและแจ้งว่านายวนรัชต์ขอเลื่อนการรับฟังคำสั่งคดี เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ต่อมาสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด และหากตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้จัดการให้ได้ตัวมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรคท้าย (ส่งผู้ร้ายข้ามแดน) โดยให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด และตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดให้ครบถ้วน ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เพื่อขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา (นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ) มาฟ้องภายในอายุความ 15 ปี เนื่องจากผู้ต้องหาหลบหนีไม่ได้เข้ารับฟังคำสั่งคดีกับพนักงานอัยการตามนัดหมายที่ได้ทราบล่วงหน้า และแจ้งอัยการผ่านทางทนายความมาว่าป่วยกะทันหันนั้น ตนได้มอบหมายให้คณะพนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตำรวจ ตม. ว่าผู้ต้องหาได้มีการหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรหรือไม่ และถ้ามีการเดินทางออกไปแล้ว ปลายทางคือประเทศใด ออกเดินทางเวลากี่โมง ด้วยสายการบินใดและเดินทางไปพร้อมกับบุคคลที่ 3 หรือไม่ หรือมีการหลบหนีออกทางช่องทางธรรมชาติหรือไม่

เพื่อจะได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 วรรคท้าย หรือการประสานประเทศปลายทางเพื่อขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงตรวจสอบว่าผู้ต้องหามีการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใดหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง กระทั่งได้รับรายงานว่าผู้ต้องหายังคงอยู่ในประเทศไทย โดยเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งทราบว่าเป็นการรักษาเกี่ยวกับการทำบอลลูนหัวใจ ส่วนกรอบระยะเวลาการนอนพักรักษาตัวจะต้องใช้เวลานานเท่าไรนั้น ตนยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากเป็นกระบวนการรักษาของแพทย์ แต่ให้ความมั่นใจกับผู้เสียหายในคดีได้ว่า ผู้ต้องหายังอยู่ในประเทศ และตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบดูแลตรวจตราอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการหลบหนี

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมทีแรกพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาของดีเอสไอเพียง 7 ราย ประกอบด้วย 2 บุคคลธรรมดา และ 5 นิติบุคคล ได้แก่ 1.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 2.บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ และนายปริญญา จั่นสัญจัย กรรมการผู้มีอำนาจ 3.บริษัท เฟิลปส์ คอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ 4.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด โดยนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการผู้มีอำนาจ 5.บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ 6.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายกิจจา คล้ายวิมติ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต และ 7.น.ส.นาตยา ปราบเพชร

กระทั่งเป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้เสียหายชื่อ “รวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค” เดินทางเข้ายื่นหนังสือสอบถามกับดีเอสไอและสำนักงานอัยการสูงสุดถึงสาเหตุที่ไม่มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหารายสำคัญอย่าง นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ น.ส.ยสบวร อำมฤต นายชินวัฒน์ อัศวโภคี และนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ ซึ่งทางอัยการได้แจ้งว่ากรณียังไม่ฟ้องเนื่องจากต้องให้ดีเอสไอสอบสวนเพิ่มเติมในบางประเด็น

ล่าสุดได้รับการยืนยันว่าพนักงานอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องนายวนรัชต์เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ น.ส.ยสบวร ไม่ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนนายกิตติศักดิ์ ญาติได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ตามพฤติการณ์กระทำผิดตามฟ้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก กระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างและมูลค่าความเสียหายสูง กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา ยกคำร้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวนายกิตติศักดิ์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วนนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์คฯ ยังคงกบดานต่างประเทศหลบหนีหมายจับ.