สำหรับประเทศไทยพบว่า ตลาดสดมีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุด รองลงมา ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงานซึ่งมีพื้นที่ของศูนย์อาหาร ทำให้เกิดขยะอาหารจำนวนมาก

สร้างขยะอาหาร 146 กก. ต่อคนต่อปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขยะอาหาร อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์อาหารของรัฐและเอกชน 14 แห่งทั่วประเทศ ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเพื่อป้องกัน ลด กำจัด ใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร

“ตัวเลขของขยะอาหารในประเทศไทยเกิดขึ้น 9.7 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขยะอาหารมีทั้งผลิตอาหารไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน อีกส่วนจากการบริโภคไม่ทันหรือไม่หมด ข้อมูลองค์ประกอบขยะมูลฝอย พบว่า 38% เป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักการลดการเกิดขยะอาหาร คัดแยก และจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางระบบคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกถึงสาเหตุขยะอาหาร

แผนที่จัดการขยะอาหาร

นับจากนี้ขยะอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความตระหนักรู้ ดังนั้นแผนจัดการขยะระดับประเทศจึงต้องมี เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ เห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566-2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นทิศทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร จัดระบบคัดแยกขยะอาหาร ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบกำจัดขยะอาหาร ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย สนับสนุนและผลักดันให้ประชาชนคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะทั่วไป และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบคัดแยกและเก็บขนขยะ

ผอ.วิจารย์ อินทรกำแหง ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อมกทม. กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขการสูญเสียของขยะอาหารอยู่ที่ 40% ตั้งเป้าในปี พ.ศ. 2570 ต้องลดการสูญเสียจากขยะอาหารให้เหลือ 28% โดยแผนที่นำทางการจัดการขยะฯมุ่งเป้าที่ลดขยะอาหารเป็นศูนย์ สนับสนุนให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง นำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์

ต่อไปหน่วยงานที่สร้างตึกสูง ต้องกำหนดเงื่อนไขการจัดการขยะอินทรีย์ และอาจต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการตั้งแต่ต้นทางผอ.วิจารย์ ให้มุมมองการจัดการขยะอินทรีย์ในอนาคต

ขยะอาหารในเมืองใหญ่มาจากศูนย์อาหาร ทั้งในห้างสรรพสินค้า สถานศึกษาของรัฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวอย่างการจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหารที่เป็นโมเดล ที่หลายหน่วยงานนำไปปรับใช้ได้

จุฬาฯ โมเดล ลดขยะในโรงอาหาร

รศ.ดร.นุตา ศุภคต ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า จุฬาฯ ได้ริเริ่มโครงการ CHULA ZERO WASTE 2560-2564 เป้าหมายลดขยะในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันโครงการยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีโรงอาหาร 12 แห่ง ร้านค้า 88 ร้าน ในเบื้องต้นได้เก็บข้อมูลพบว่า ปี 59 มีขยะจากโรงอาหาร 3.27 ตันต่อวัน เป็นเศษอาหาร 2.44 ตัน หรือ 74% มาจากผู้ใช้บริการโรงอาหาร 1.80 ตัน อีก 0.64 ตัน จากร้านค้าในโรงอาหาร มีทั้งอาหารปรุงสุกและเศษผักผลไม้ ทั้งนี้ปี 59 จุฬาฯ ส่งขยะให้ กทม. ฝังกลบ 21 ตันต่อเดือน

กลยุทธ์จัดการขยะที่ไม่ใช้เทคโนโลยี หัวใจสำคัญการสร้างพฤติกรรมการลดและคัดแยกขยะ ให้ความรู้ทานให้หมด ทานแต่พอดี เลือกของที่ดีต่อสุขภาพ อบรมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการขยะแก่ร้านค้า โดยโรงอาหาร มีถังคัดแยกขยะ 6 ประเภท ได้แก่ นํ้า/นํ้าแข็ง, แก้วนํ้า/หลอด, ขวดพลาสติก, ขยะทั่วไป, เศษอาหาร และพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ขยะอินทรีย์แบ่งย่อยออกเป็นขยะอาหารปรุงสุก มีจุดรวบรวมไว้ปลายทางเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีนำไปเลี้ยงปลา ขยะเศษอาหารมีคุณค่าเชิงโภชนาการ มีการเก็บข้อมูลปลามีคุณภาพขายได้ราคา ส่วนขยะอินทรีย์ที่เหลือ เศษผักผลไม้ นำไปเข้าเครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์ ได้วัสดุปรับปรุงดิน แม้ไม่เทียบเท่าปุ๋ย แต่ใช้บำรุงต้นไม้ได้

รศ.ดร.นุตา เผยว่า หลังทำโครงการปริมาณขยะ ส่งให้ กทม. ลดลงเหลือ 7 ตันต่อเดือน การดำเนินโครงการในระยะ 5 ปี สอดรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ถอดบทเรียนว่า ปลายทางไม่ควรใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน เจ้าหน้าที่สามารถจัดการได้ นอกจากนี้ได้ มอบประกาศนียบัตรและให้ของรางวัลประจำปีสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นร้านค้าและเจ้าหน้าที่โรงอาหารลดขยะนำมาสู่การร่วม มือกัน ตลอดจนต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คัดแยก ขยะคัดแยกแล้วไม่เทรวม

ขยะอาหาร เกิดจากครัวและจานเท่ากัน

ณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถานการณ์ขยะอาหารในศูนย์อาหาร มีทั้งขยะจากครัว ที่มีทั้งเศษพลาสติก เศษผัก ขยะอื่น ๆ ไม่มีเวลาแยกทิ้งรวม ๆ กัน ขยะอาหารจากในครัวและในจานเยอะพอกัน ส่วนใหญ่รวบรวมขยะอาหารไปเป็นอาหารสัตว์ แต่ก็มีข้อจำกัดของผู้ที่มารับเอาไป มีตัวอย่างการศึกษาปริมาณและองค์ประกอบขยะอาหารที่ศูนย์อาหารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พบว่า กินได้ 80% กินไม่ได้ 20% ส่วนใหญ่เป็นคาร์โบไฮเดรต

“ผู้บริหารศูนย์อาหารต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งทีมวางแผน กำหนดจุดและจัดหาภาชนะรองรับขยะอาหาร ประสานหาผู้รับขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ขายอาหารวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณพอเหมาะ เก็บรักษาวัตถุดิบอย่างเหมาะสม แปรรูปเศษวัตถุดิบที่เหลือ นำอาหารเหลือมาลดราคา” นักวิจัยฝากข้อเสนอแนะ

อาหารจะไม่เป็นขยะเมื่อมีการบริหารจัดการและทุกคนในสังคมร่วมตระหนักรู้แยกและไม่บริโภคจนเกินพอดี.

พรประไพ เสือเขียว
[email protected]