นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายขับเคลื่อนการบริหารยางพารา แก่ผู้บริหารและพนักงาน กยท. ว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นในการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจ คือ การร่วมมือกันของทุกฝ่ายและการทำงานอย่างมีเอกภาพ ปัญหาและอุปสรรคของการทำงานจะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งก่อนที่จะรับตำแหน่งประธานบอร์ด กยท. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้เข้ามาดูแลองค์กรในหลายๆ ส่วน สร้างการทำงานเชิงรุก สื่อสารความก้าวหน้าขององค์กรให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง นำไปสู่การสร้างความสุขให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ

การกำหนดแนวคิดหลัก “อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน” เป็นผลมาจากที่ รมว.เกษตรฯ ได้มอบหมายให้ดำเนินงานเพื่อสร้างความสุขให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดย “อยู่ได้” คือ กยท. จะเข้าไปช่วยผลักดันราคายางให้สามารถหล่อเลี้ยงพี่น้องชาวสวนยางให้มีชีวิตอยู่ได้ สร้างปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร อาทิ ปุ๋ยหรือเคมีภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์การยาง เพื่อนำมาใช้เองและขยายไปยังตลาดต่างประเทศ รวมถึงการติดอาวุธทางความรู้ และเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ให้มีศักยภาพในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ทั้งยังมุ่งให้เกษตรกรเกิดความ “พอใจ” ด้วยการบริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ในการแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน จะเร่งออกโฉนดไม้ยางทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยให้ขึ้นทะเบียนต้นยาง และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นเอกภาพ

นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างความ “ยั่งยืน” ด้วยการสร้างตลาดซื้อขายยางมาตรฐานเดียวกัน 500 ตลาดทั่วประเทศ ที่รองรับกฎระเบียบ EUDR สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ถึงพื้นที่ปลูกยาง เพิ่มมูลค่ายางพาราได้ไม่ต่ำกว่า 3 บาท/กิโลกรัม ผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผลิตยางที่มีมาตรฐานตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงเข้มงวดการนำเข้ายางเถื่อนอย่างจริงจังและการตรวจสอบสต๊อกยางในประเทศ โดยเฉพาะช่วงก่อนที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตยางในประเทศ พร้อมทำสวนยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย BCG/ Carbon Credit

การผลิตยางล้อแบรนด์การยาง เป็นงานสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ จากยางพารา ซึ่งจะดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด 400,000 ตัน/ปี และอีกมาตรการที่เตรียมผลักดันคือ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ปลายน้ำของสถาบันเกษตรกร เน้นการทำตลาดแบบจริงจังให้มีศักยภาพที่จะสามารถต่อยอดได้ และส่งเสริมให้ กยท. เป็นผู้นำราคากลางของตลาดยางอย่างมีเสถียรภาพ

“การทำให้ประเทศไทยเป็นผู้กำหนดราคายางของโลก ถือเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องทำให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้ราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ โดยในส่วนของตนเองนั้น วางเป้าหมายผลักดันให้ราคายางพาราขยับสู่ตัวเลข 3 หลัก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือกันนำนโยบายรัฐบาลมาปฏิบัติให้เกิดผล ตนมองว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยางพาราที่มีคุณภาพ เนื่องจากมีวัตถุดิบยางตรงกับตามที่ตลาดต้องการ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR ซึ่งยางในประเทศไทยที่ กยท. เข้าไปดูแล ผ่านเงื่อนไข EUDR สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของยางได้ ประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และตั้งเป้าสู่ 2 ล้านตันต่อปีในปีนี้ นับเป็นปริมาณมากหากเทียบกับความต้องการยางที่ผ่านมาตรฐาน EUDR ของตลาดโลก 4 ล้านตันต่อปี จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ กยท. จะต้องเร่งทำให้เกิดผลสำเร็จ”