นายเลสลี่ ชู กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียของ เอซีไอ เวิลด์ไวด์ บริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลก ที่ให้บริการโซลูชั่นการชำระเงินแบบเรียลไทม์ เปิดเผยว่า เอซีไอ เวิล์ดไวด์ และยูกอฟ ได้สำรวจเกี่ยวกับรูปแบบ การชำระเงินของคนไทยในปี 64 พบว่า ผู้บริโภคไทยจำนวน 72% เลือกใช้วิธีชำระเงินแบบเรียลไทม์ เช่น พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นช่องทางหลักในการชำระเงิน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการใช้เงินสด ที่มีจำนวน 63% และดิจิทัลวอลเล็ท ที่ต้องโอนเงินเข้าบัญชีหรือบัตรเติมเงิน จำนวน 49% ผลสำรวจนี้บ่งชี้ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการปรับปรุง ระบบชำระเงินให้ทันสมัยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศการชำระเงิน แบบเรียลไทม์ ข้ามพรมแดนในระดับภูมิภาค

“ความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยน ไปใช้วิธีการชำระเงินแบบเรียลไทม์อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคไทยสี่ในสิบคน หรือ 40% ใช้วิธีชำระเงินแบบเดิม เช่น เงินสด บัตรเครดิต และบัตรเดบิต น้อยลง และส่งผลให้สองในสามของผู้บริโภค หรือ 66% ใช้วิธีการชำระเงินแบบเรียลไทม์มากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด”

นายเลสลี่ ชู กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคในปัจจุบัน คาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์แบบเรียลไทม์ผ่านอุปกรณ์โมบายเป็นหลัก แต่การชำระเงินมักทำได้อย่างล่าช้า  การพัฒนาระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ช่วยให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินสามารถชำระเงิน จ่ายบิล และโอนเงินได้ทันที  แม้ว่าเงินสดถือเป็นวิธีการชำระเงินแบบ ทันที มาโดยตลอด แต่ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นแนวทางการใช้เงินสดชำระเงินเข้าสู่ยุคดิจิทัล ย่นระยะเวลาชำระบัญชีที่รวดเร็วขึ้น ทั้งยังมีการแจ้งเตือน และรายงานข้อมูลอย่างครบถ้วน ความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความท้าทายให้กับสถาบันการเงิน ธนาคารและผู้ประกอบการที่ จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงระบบและการดำเนินงานให้ทันสมัย แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีสาเหตุจากโควิด-19 ก็ตาม

อย่างไรก็ตามหากมองอีกมุมหนึ่งองค์กรจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจด้วยการเข้าร่วมในระบบนิเวศด้านการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการคิดค้น สิ่งใหม่และปฏิรูปองค์กร ควบคู่ไปกับการลดค่าจ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงาน.