นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค. 67 โดยจะใช้พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจากผลการศึกษาเบื้องต้นที่ ทอท. เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากที่สุด นอกจากนี้ แนวร่อนลงของอากาศยาน ไม่มีภูเขาเป็นอุปสรรคในการทำการบินลงจอดที่ท่าอากาศยานอันดามันด้วย
นายกีรติ กล่าวต่อว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยมอบให้ ทอท. เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานต่างๆ ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) เป็นอีกหนึ่งท่าอากาศยานของ ทอท. ที่มีปริมาณผู้โดยสาร และเที่ยวบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 66 พบว่า ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.46 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 86% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 62 ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านคน ขณะที่เที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 8,667 เที่ยวบิน คิดเป็นประมาณ 85.31% ของเดือน ธ.ค. 62 ที่มีปริมาณเที่ยวบินอยู่ที่ 10,160 เที่ยวบิน โดยภาพรวมถือว่ากลับมาเกือบใกล้เคียงกับปี 62 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภายในสนามบินเริ่มหนาแน่นในบางช่วงเวลาแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของระหว่างประเทศ
นายกีรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทภก. มีเพียง 1 ทางวิ่ง (รันเวย์) มีขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินอยู่ที่ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (ชม.) ปัจจุบันได้ให้บริการเต็มขีดความสามารถ และไม่สามารถขยายรันเวย์ได้เพิ่มเติมแล้วเนื่องจากพื้นที่ติดทะเล ด้วยข้อจำกัดนี้แม้ ทอท. จะมีแผนพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ วงเงินประมาณ 5,800 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการปี 72-73 แต่ก็สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 25 เที่ยวบินต่อ ชม. เท่าเดิม ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา มากขึ้น
นายกีรติ กล่าวด้วยว่า ทอท. จะปรับแผนการดำเนินงานการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งเดิมจะให้เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ รองรับทั้งการเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันเนื่องจากพบว่าปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องปรับให้ท่าอากาศยานอันดามัน เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก แต่จะมีการให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางเส้นทางที่ทำการบินระหว่างจังหวัด (Point-to-Point) หรือเส้นทางการบินแบบต่อเครื่องบิน (Connecting Flight) ด้วยส่วนท่าอากาศยานภูเก็ต จะเน้นรองรับเฉพาะเที่ยวบิน และผู้โดยสารภายในประเทศ แต่จะมีให้บริการระหว่างประเทศบางเที่ยวบินเช่นกัน
นายกีรติ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะใช้วงเงินลงทุนท่าอากาศยานอันดามัน 8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งานเขตการบิน 2.8 หมื่นล้านบาท, งานอาคารผู้โดยสาร 2.5 หมื่นล้านบาท, งานสนับสนุนและสาธารณูปโภค 1.5 หมื่นล้านบาท และสำรองราคาและภาษี 1.2 หมื่นล้านบาท โดยท่าอากาศยานแห่งนี้มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อ ชม. จะมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามันด้วย ซึ่งทั้ง 2 แห่ง อยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กิโลเมตร (กม.) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 26 นาที
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการศึกษาฯ แล้วเสร็จ จะเสนอผลศึกษาต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท., สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากเห็นชอบ ทอท. จะศึกษาออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 71 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 74.